12 พ.ค. – กรมอุตุนิยมวิทยาเตรียมประกาศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า พบว่าระหว่างช่วงรอยต่อฤดูกาล จะส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนขึ้นได้
หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตรียมประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 เดือนนี้แต่เนื่องจากช่วงระหว่างรอยต่อของฤดูกาลจะทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งช่วงสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ส่วนในช่วงวันที่ 17-18 พ.ค.บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้ยังคงฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
แม้หลายพื้นที่ในช่วงนี้ จะเริ่มมีฝนโปรยปรายลงมากันบ้างแล้ว แต่ภัยแล้งก็ยังคุกคามอย่างหนัก โดยที่จังหวัดนครสวรรค์ บึงบอระเพ็ดน้ำแห้งขอด ชาวบ้านอาชีพทำประมงท้ายบึงใน อำเภอท่าตะโก ชุมแสงและอำเภอเมืองบางส่วนเดือดร้อนหนัก ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง บางแห่งมีเนินดินขนาดกว้าง และมีตอไม้ผุดเป็นจำนวนมาก จำนวนปลาก็ลดลง หากยังไม่มีฝนตกลงมาภายใน 2 สัปดาห์ ชาวบ้านคงต้องหยุดออกหาปลา เนื่องจากเรือไม่สามารถออกจากฝั่งได้
อ่างเก็บน้ำในตัวเมืองโคราชเหลือน้ำใช้เพียงร้อยละ 6 จ.นครราชสีมา
เช่นเดียวกับที่จังหวัดนครราชสีมา ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น สภาพอ่างเก็บน้ำ ขนาดกลาง 23 แห่ง ทั้ง 32 อำเภอ เหลือน้ำใช้การได้เพียง 78 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุทั้งสิ้น 331 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์น่าเป็นห่วง และเสี่ยงขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ เช่นที่ห้วยบ้านยาง ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีน้ำเหลืออยู่เพียง 900,000 ลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งสิ้น 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุ ในจำนวนนี้มีน้ำสามารถใช้การได้เพียง 380,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 6 ของความจุ ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จนแห้งขอด กลายเป็นที่ราบสันดอนดินกว้างขวาง เต็มพื้นที่กว่า 1,800 ไร่
ชาวนาสูบน้ำก้นสระแหล่งสุดท้ายหล่อเลี้ยงต้นข้าว จ.พิจิตร
ส่วนที่จังหวัดพิจิตร อากาศร้อนและแห้งแล้งจัดยาวนานหลายเดือน ส่งผลให้ภัยแล้งในตำบลบางไผ่ อำเภอบางมูลนาก ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้าง ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดระดับลงจนแห้งขอด กลุ่มเกษตรกรต้องดิ้นรนสูบน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ลำคลองสาขา แหล่งน้ำแหล่งสุดท้าย ที่ยังพอมีน้ำหลงเหลืออยู่บ้าง ไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในแปลงนา ที่กำลังตั้งท้องใกล้ออกรวง ไม่ให้ประสบปัญหาขาดน้ำยืนต้นตาย .- สำนักข่าวไทย