กทม. 10 พ.ค.-โรงพยาบาลดังออกหนังสือแสดงความเสียใจ พร้อมชี้แจงปมผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ยืนยันเลือดมีมาตรการคัดกรองระดับสากล โอกาสติดเชื้อน้อยมาก และพร้อมรักษาผู้ป่วยรายนี้อย่างดีที่สุด ตามหลักคุณธรรมและมนุษยธรรม
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ออกเอกสารชี้แจงหนุ่มวัย 24 ปี ที่ปรากฏเป็นข่าวได้รับเชื้อเอชไอวี เข้ารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่โรงพยาบาลเมื่อปี 2547 หรือ 15 ปีก่อน แต่โรงพยาบาลเปิดเผยข้อมูลประวัติการรักษาไม่ได้ แต่เพื่อแสดงจุดยืนการรักษาและเยียวยาผู้ป่วยที่ปฏิบัติมาตลอด ขอชี้แจงว่า 1.ข้อปฏิบัติในการให้เลือด โรงพยาบาลมีข้อปฏิบัติในการรับเลือดจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพราะเป็นสถาบันที่คัดเลือก คัดกรอง และตรวจเลือดผู้บริจาคตามมาตรฐานระดับประเทศและสากล รวมถึงตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยเทคโนโลยีทันสมัยใช้มาถึงปัจจุบัน แต่การตรวจคัดกรองมีข้อจํากัดกรณีผู้บริจาคเพิ่งได้รับเชื้อ อาจทําให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อ ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นมีน้อยมาก
2.เรื่องการดูแลรักษาตามหลักมนุษยธรรม โรงพยาบาลเสียใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักมนุษยธรรมมากว่า 10 ปี ทั้งค่ารักษาเอชไอวี และอาการข้างเคียง รวม 266 ครั้ง เป็นเงินกว่า 7 หลัก และยืนยันจะดูแลรักษา รวมถึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอย่างดีที่สุดต่อไป
ด้านแพทย์หญิงจารุพร พรหมวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวถึงการพบการติดเชื้อเอชไอวีจากการรับบริจาคโลหิตว่า ขั้นตอนการรับบริการโลหิตมีการตรวจคัดกรองจากแบบสอบถาม และตรวจด้วยเครื่องและน้ำยาทางการแพทย์ ที่ครอบคลุมทั้งเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และซิฟิลิส แต่คาดว่าที่เชื้อหลุดรอดจากเลือดผู้บริจาคไปถึงผู้รับโลหิต มาจากระยะฟักตัวของโรค ที่แม้แต่เทคโนโลยีก็ตรวจไม่ได้ หรือที่เรียกว่า window period ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้บริจาคเพิ่งผ่านความเสี่ยงของการรับเชื้อไม่นาน และมาบริจาคเลือดทันที ทั้งนี้ ยอมรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจากการรับบริจาคโลหิตรายนี้นับเป็นรายที่ 2 นับตั้งแต่รายแรกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2523 โดยโอกาสเกิดได้ 1 ต่อ 1.6 ล้านคนเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการตรวจคัดกรองโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า จะนำมาตรวจคัดกรอง ตรวจหาเชื้อ ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำให้แล้วเสร็จใน 24 ชั่วโมง ก่อนส่งต่อโลหิตให้ผู้ป่วย ส่วนโลหิตที่รับบริจาคและพบว่าเป็นเลือดที่มีความเสี่ยงจะถูกนำไปตรวจซ้ำ หากให้ผลยืนยันติดเชื้อโรคจะถูกนำไปทำลายทันที ซึ่งปริมาณเลือดที่ไม่สามารถส่งต่อให้ผู้ป่วยได้คิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้น แนะผู้บริจาคโลหิตให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อการตรวจคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง หากรู้ตัวว่าเสี่ยงหรือเพิ่งผ่านพ้นการมีเพศสัมพันธ์ที่สุ่มเสี่ยง ไม่ควรบริจาคโลหิต แต่ควรเว้นช่วงอย่างน้อย 3 เดือน โดยมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเดียวแล้วค่อยกลับมาบริจาค.-สำนักข่าวไทย