กทม. 8 พ.ค. – ทนายความชื่อดัง ชี้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่แจ้งความคืบหน้าคดีให้ผู้ร้องทุกข์ทราบเป็นระยะ มีคำสั่ง ตร.กำหนดไว้ชัด! การดึงสำนวนให้ล่าช้าเป็นช่องโหว่ให้จ่ายเงินเร่งรัดคดี เรียก “ค่าอำนวยความสะดวก” จากประสบการณ์พบคดี ล่าช้า-ค้างบนโรงพัก จำนวนมาก ระบุ พนักงานสอบสวนเรียกรับสินบนโทษหนักประหารชีวิต
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความอิสระ เตือนพนักงานสอบสวนทั้งประเทศ หากมีการแจ้งความร้องทุกข์เกิดขึ้น ควรรายงานความคืบหน้า และแจ้งผลของคดีให้ผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษทราบความคืบหน้า เนื่องจากมีคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เกี่ยวกับเรื่องการแจ้งผลความคืบหน้าการสอบสวนให้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษรับทราบ โดยให้ทำเป็นหนังสือแจ้งความคืบหน้าการสอบสวนเป็นระยะ
ครั้งแรกเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับคำร้องทุกข์ กล่าวโทษ
ครั้งที่ 2 เมื่อครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่แจ้งครั้งแรก
และครั้งที่ 3 เมื่อสรุปสำนวนการสอบสวน ส่งให้พนักงานอัยการ ทั้งนี้หากมีการออกหมายจับหรือจับกุมผู้ต้องหาได้ ก็ให้แจ้งผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษด้วย
จากคำสั่งดังกล่าวเห็นได้ว่ามีกฎระเบียบคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุไว้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงทำให้เกิดช่องโหว่ให้พนักงานสอบสวนรับเงิน เนื่องจากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต้องการให้คดีคืบหน้ารวดเร็วก็มักจ่ายเงินให้พนักงานสอบสวนเป็นค่าทำคดี เป็นการจ่ายด้วยความเสน่ห์หา เรียกว่า “ค่าอำนวยความสะดวก” ไม่มีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่หากพิสูจน์ได้ หรือมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นการเรียกรับสินบนพนักงานสอบสวนจะมีความผิด ส่วนผู้ที่จ่ายเงินสินบนไม่ผิด โดยจะมีความผิดต่อเมื่อจ่ายสินบนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงของคดี ซึ่งคดีที่มักจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวก อาทิ คดีที่มูลค่าความเสียหายสูง , คู่กรณีมีเส้นสาย , มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง , ใกล้ขาดอายุความ และคดีจำพวกหมิ่นเหม่ ระหว่างเป็นคดีแพ่ง หรือ คดีอาญา จึงอาจมีการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้คดีนั้น กลายเป็นคดีอาญา ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ตนเป็นทนายความมากว่า 35 ปี พบคดีล่าช้าจำนวนมาก บางคดีล่าช้ากว่า 2 ปี หลายคดีล่าช้าจนขาดอายุความ ทั้งที่ความจริงทุก ๆ คดีพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน คดีที่ล่าช้าจึงส่งผลต่อผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
กรณีนายไพวัลย์ แซ่ลี้” รมควันฆ่าตัวตาย พร้อมเขียนจดหมายระบายความอัดอั้นตันใจ กล่าวหานายตำรวงเรียกรับสินบนจำนวน 5,000 บาท และทำคดีล่าช้ากว่า 7 เดือนนั้น อยากให้ประชาชนพิจารณาดูว่าพนักงานสอบสวนคนดังกล่าว กระทำการตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ให้รายงานความคืบหน้าของคดีต่อผู้ร้องทุกข์หรือไม่ อีกทั้ง มีการปล่อยเวลาให้ล่วงเลยประมาณ 7 เดือน โดยไม่มีการรายงานให้ผู้ร้องทุกข์รับทราบ ถือเป็นการผิดวินัย มีผลทำให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายเกิดขึ้น
ส่วนกรณีเรียกรับสินบน 5,000 บาท หากถ้าเป็นความจริง พนักงานสอบสวน อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ , ๑๔๙ และ ๒๐๑ โดยเฉพาะมาตรา ๑๔๙ และ ๒๐๑ นั้น มีการแก้ไขอัตราโทษเพิ่มเติม โดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ ระบุว่า
มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
และ มาตรา 201 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงาน อัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำ การหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือ มิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุก ตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต
ทนายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งศาลเชื่อในคำพูดสุดท้ายของผู้เสียชีวิต เนื่องจากเห็นว่าคนใกล้ตายมักจะพูดความจริง – ไม่โกหก.- สำนักข่าวไทย