นนทบุรี 7 พ.ค. – สถาบันอัญมณีฯ เตือนผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยรับมือสหรัฐเตรียมใช้มาตราการตรวจสอบที่มาวัตถุดิบผลิตสินค้าอาจมาบางประเทศที่เป็นแหล่งทุนสำคัญสนับสนุนขัดแย้งในอิหร่าน เวเนซุเอลา และบางประเทศแอฟริกา
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเตรียมเข้มงวดกับธุรกิจเครื่องประดับมากขึ้น เบื้องต้นแจ้งไปยังกิจการและกลุ่มบริษัทธุรกิจเครื่องประดับในการประชุมที่นิวยอร์ก ให้ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรับรู้และเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่อัญมณี (เพชรหรือพลอยสี) แต่รวมถึงทองคำและโลหะมีค่าอื่น ๆ ด้วย มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินการตามกฎหมายใหม่ของสหรัฐ ซึ่งยังไม่เปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวรัฐบาลสหรัฐ เชื่อว่าการค้าวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับบางประเทศเป็นแหล่งทุนหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนเหตุความขัดแย้งของกลุ่มนอกกฎหมาย โดยเฉพาะในอิหร่าน เวเนซุเอลา รวมถึงบางประเทศในทวีปแอฟริกา ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องการรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบและหรือชิ้นส่วนเครื่องประดับที่นำเข้าทุกรายการ แม้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐจะชี้ให้เห็นว่าการรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนทุกรายการในเครื่องประดับอย่างชัดเจนเป็นเรื่องยาก เพราะวัสดุหลายชิ้นผ่านการรีไซเคิล หรืออาจขายผ่านตลาดรอง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเตรียมพร้อมรับกฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกชิ้นจะต้องสำแดงเอกสารแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นเพชร พลอยสี และโลหะมีค่าทั้งทองหรือเงินให้ถูกต้องจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น การออกใบรับรองอัญมณีและเครื่องประดับจากสถาบันอัญมณีฯ หรือใบรับรองจาก Responsible Jewellery Council หรือเพชรที่มีใบรับรอง Kimberley Process หรือองค์กรที่ให้การรับรองเหมืองทองอย่าง Fairtrade และFairmined และควรจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Block chain ที่สามารถระบุและติดตามแหล่งที่มาของอัญมณีในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในธุรกิจเครื่องประดับ ซึ่งจะสามารถทำผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดสหรัฐได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งสถาบันอัญมณีฯ ในฐานะหน่วนงานกลางด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทยได้ทำการประสาน ติดตาม และศึกษาผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวที่มีต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและทางดูเทคโนโลยี Block chain กำลังเข้ามามีบทบาทในการระบุแหล่งที่มาของอัญมณี สถาบันอัญมณีฯ ได้ดำเนินการจัดจ้างศึกษาผลกระทบ ข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยีดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ผลการศึกษาได้ภายในปี 2562
ทั้งนี้ ในปี 2561 สหรัฐเป็นตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่สำคัญเป็นอันดับ 4 มูลค่า 1,346.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 11 ของมูลค่าการส่งออกรวม เป็นการส่งออกเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินถึงร้อยละ 74 พลอยสี ร้อยละ 12 และเพชรเจียระไนร้อยละ 10 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย