นนทบุรี 6 พ.ค.-พาณิชย์ระบุแม้สหรัฐฯ คงสถานะทรัพย์สินทางปัญญาในบัญชี WL แต่ทุกฝ่ายจะต้องดูแลไม่ละเมิดและใช้ของถูกกฎหมาย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า หลังจากผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา(USTR)ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2562 ไปเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าในปีนี้ประเทศไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch list: WL) ได้อีก หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากบัญชีที่ต้องจับต้องพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็น WL เมื่อปี 2560 เป็นต้นมา โดย
สหรัฐฯ ได้เห็นว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินนโนบายและการคุ้มครองรวมถึงการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเป็นมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญทุกเรื่องและทุกด้านทำงานเชิงบูรณการของหน่วยงานด้านการปราบปราม ซึ่งทำให้เกิดผลที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม จนสามารถทำลายของกลางในแต่ละปีมากมายและยังได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดพร้อมทั้งเดินหน้าสร้างความมั่นใจลดการใช้ของที่ผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังได้ชื่นชมแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การมีระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริดฯ การเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการจดทะเบียนและเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการปราบปรามการละเมิดทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ผลการจัดสถานะประจำปีนี้ถือว่าน่าพอใจจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด อาทิ กอ.รมน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. และสำนักงาน อย. เป็นต้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดีเช่นนี้ต่อไป แม้สหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชมในความพยายามของไทยในหลายด้าน แต่ไทยต้องมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา จริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดฯ การปรับปรุงพัฒนากฎหมาย และการเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนสิทธิบัตร
ดังนั้น การที่ไทยสามารถรักษาสถานะการคุ้มครองฯ ได้ในปีนี้ นอกจากการเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของนักลงทุนสหรัฐฯ แล้ว การดำเนินการของไทยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเหมาะสมกับระดับการพัฒนาประเทศ อีกทั้ง ยังกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานและปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย