กรุงเทพฯ 29 เม.ย. – ก.พลังงานเร่งแผนใช้ปาล์มผลิตน้ำมันบี 10 คุยเอกชนผู้ผลิตบี 100 ปรับมาตรฐานตาม “จามา” ด้านเอกชนพร้อมหนุน แต่ต้องการเห็นภาครัฐประกาศเป็นน้ำมันพื้นฐานถาวร
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งรัดในเรื่องการร่วมแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ โดยดูดซับมาใช้ในด้านการนำมาเป็นเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการนำมาเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 10 และ บี 20 ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องและจะมีการแถลงข่าวภาพรวมทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ และจะมีการประกาศมาตรฐานบี 10 ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนบี 20 นั้น ความต้องการใช้ได้เพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 1.3-1.4 ล้านลิตร/วัน
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยและผู้บริหารโรงงานน้ำมันพืช “เกษร” กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ประชุมร่วมกับ รมว.พลังงาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแจ้งว่า ในอนาคตจะผลักดันให้บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานจากที่ขณะนี้บี 10 จะเป็นน้ำมันทางเลือก โดยทาง รมว.พลังงานต้องการรับทราบปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการ ซึ่งจากการสอบถามสมาชิกฯ พบว่าโรงงานผลิตไบโอดีเซล บี 100 ประมาณ 5-6 โรงงาน ประมาณ 3 ล้านลิตร/วัน จากทั้งหมด 13 โรงงาน กำลังผลิตรวม 7.7 ล้านลิตร/วัน (ผลิตเพื่อจำหน่วย 4 ล้านลิตร/วัน) สามารถผลิตบี 100 เพื่อนำไปผสมเป็นบี 10 ตามมาตรฐานสมาคมยานยนต์ ญี่ปุ่น หรือจามาที่ต้องปรับมาตรฐานไขมัน (WAX) ในส่วนของโมโนกลีเซอร์ไรด์ปรับลดจากไม่เกินร้อยละ 0.7 เป็นไม่เกินร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนักและโรงกลั่นน้ำมันต้องปรับมาตรฐานน้ำมันดีเซล เรื่องค่าน้ำ (Water Content) จากเดิมเป็นไม่เกิน 300 ppm เป็นไม่เกิน 200 ppm
ในขณะนี้สมาคมฯ กำลังรวบรวมความคิดเห็นของทุกโรงงานว่าจะหากทำตามมาตรฐานที่จามากำหนดต้องลงทุนเพิ่มมากน้อยเพียงใด และจะเสนอแนะต่อภาครัฐอย่างไร โดยจะต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของระบบของเสีย ระบบพลังงาน และสารเคมี บางโรงงานต้องลงทุนสร้างหอกลั่น 100-200 ล้านบาท หากต้องลงทุนเพิ่มเบื้องต้นทางเอกชนก็ต้องการเห็นว่าภาครัฐต้องกำหนดให้บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานถาวร เพราะ หากเป็นทางเลือกแล้วในอนาคตลดส่วนผสมลง ก็จะกระทบต่อเอกชนที่ลงทุนในการปรับมาตรฐานเหล่านี้
“เอกชนก็หวั่นว่าหากลงทุนเพิ่มผลิตมาตรฐานตามจามาแล้วเกิดในอนาคตปาล์มขาดแคลนแล้วลดมาตรฐานพื้นฐานจากบี 10 เป็นบี 5 หรือบี 7 แล้วความต้องการบี 100 ลดลงก็จะส่งผลต่อยอดขายและกำลังผลิตที่ลดลงของโรงงานไบโอดีเซลด้วย ซึ่งทางสมาคมฯ จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อ รมว.พลังงาน ในเร็ว ๆ นี้” นายศาณินทร์ กล่าว
นายศาณินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า ราคาผลปาล์มดิบที่ตกต่ำเหลือ 1.60 บาท/กก.เกิดจากหลายปัจจัยทั้งราคาตลาดโลกที่ลดลง ขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ของตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 16 บาท/กก. ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ คาดว่าผลปาล์มดิบในไทยปีนี้สูงสุดในรอบ 20 ปี และจะมีซีพีโอในไทยสูงถึง 3 ล้านตัน ประกอบกับปัญหาภัยแล้งยิ่งทำให้คุณภาพผลปาล์มหรือเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำกว่ามาตรฐานที่ร้อยละ 18 ยิ่งกดดันราคาให้ต่ำลง ซึ่งทางภาคเอกชนเห็นด้วยที่ภาครัฐใช้มาตรการระยะสั้นในการดูดซับปาล์มมาใช้เพื่อผลิตพลังงานให้เร็วที่สุด แต่ระยะยาวแล้วต้องดำเนินการในหลายรูปแบบตั้งแต่ผลผลิตจากเกษตรกร การใช้ทั้งการบริโภคและพลังงาน โดยจะเห็นได้ว่าผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ได้ใช้ผลิตน้ำมันมากขึ้น มาเลเซียปรับจากบี 7 เป็นบี 10 ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนอินโดนีเซียจะปรับจากบี 20 เป็นบี 30 ในปี 2563. -สำนักข่าวไทย