กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – กลุ่มผู้ประกอบการมั่นใจแนวทางปฏิรูปนมโรงเรียนใหม่ โปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมปฏิบัติเพื่อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเกษตรกรจำหน่ายน้ำนมโคมากขึ้น
นายสุรชาติ คหินทพงษ์ ประธานกลุ่มความร่วมมือภาคสหกรณ์ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา (ACPU) ซึ่งสมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2562 รวม 19 ราย กล่าวว่า มั่นใจแนวทางปฏิรูปการบริหารจัดการ ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้นมารับผิดชอบ โดยแยกออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) อีกทั้งคณะกรรมการอาหารนมฯ รวมทั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ชุดไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้แทนกลุ่มเกษตรกร ผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการอยู่ในคณะกรรมการ เนื่องจากที่ผ่านมาตัวแทนแต่ละกลุ่มพยายามกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เอื้อต่อกลุ่มของตนเอง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ฟ้องร้องกันว่าการจัดสรรสิทธิจำหน่ายไม่โปร่งใส
สำหรับแนวทางปฎิรูปโครงการนมโรงเรียนที่ ครม.เห็นชอบกำหนดให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่ม มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะทำให้การควบคุมคุณภาพนมโรงเรียนได้อย่างใกล้ชิดเนื่องจากใช้น้ำนมดิบของพื้นที่นั้น ๆ ตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ก่อนเข้าโรงงาน รวมทั้งเมื่อเข้าโรงงานแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์และนมยูเอชทีสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน อีกทั้งการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายยังพิจารณากลุ่มพื้นที่ก่อนเพื่อให้กระบวนการขนส่งใช้เวลาน้อยที่สุด ลดความเสียหายจากขนส่งได้มาก นมใหม่สดถึงมือนักเรียนอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการรณรงค์บริโภคนมเพื่อเพิ่มอัตราการดื่มนมจาก 18 ลิตรต่อคนต่อปี เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2564 รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีแผนการตลาดรองรับน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นและรับผิดชอบปริมาณน้ำนมดิบตลอด 365 วัน ซึ่งจะส่งผลดีให้เกษตรกรจำหน่ายน้ำนมมากขึ้น เช่น แผนการบริหารจัดการน้ำนมโคในช่วงปิดภาคเรียนของกลุ่ม ACPU โดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมยูเอชที 110 ล้านกล่อง
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่ม ACPU มีเกษตรผู้เลี้ยงโคนม 6,500 ครัวเรือน มีโคนมทั้งหมด 120,000 ตัว มีปริมาณน้ำนมโคของสมาชิกกลุ่ม ACPU จำนวน 972 ตัน/วัน และรับซื้อจากศูนย์อื่นอีก 160 ตัน/วัน รวม 1,132 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำนมโคทั้งประเทศ มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมยูเอสทีกำลังการผลิต 930 ตัน/วัน และพาสเจอร์ไรส์ มีกำลังการผลิต 1,085 ตัน/วัน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดคณะกรรมการอาหารนมฯ จะรวบรวมฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Big Data) มั่นใจว่าจะทำให้ปัญหาการแจ้งปริมาณรับซื้อน้ำนมดิบที่สูงกว่าปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้เพื่อขอรับการจัดสรรสิทธิให้มากขึ้นนั้นหมดไป
“ผู้ประกอบการกลุ่ม ACPU พร้อมปฏิบัติตามแนวทางบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่ โดยเห็นว่าเป็นผลงานสำคัญของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปฎิรูปกระบวนการทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาโครงการนมโรงเรียนถูกมองว่ามีการแย่งชิงผลประโยชน์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการฯ ร้องเรียนกันว่าปริมาณน้ำนมดิบที่แจ้งมากกว่าผลิตได้จริงเนื่องจากแย่งโควตาจำหน่ายกัน เป็นเหมือนละครน้ำเน่าที่เกิดขึ้นทุกภาคเรียน แต่ระบบใหม่โปร่งใสและตรวจสอบได้เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ได้ดื่มนมคุณภาพดีทันทีในวันเปิดภาคเรียน 16 พฤษภาคม 62 นี้แน่นอน” นายสุรชาติ กล่าว
นายสัตวแพทย์ณรงค์ เลี้ยงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน กล่าวว่า การรับสมัครผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารจะเร่งคณะอนุกรรมการกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่มจะเร่งจัดประชุมพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการและจัดสรรสิทธิ์การจำหน่าย คาดว่าวันที่ 30 เมษายนจะได้ผลการคัดเลือก รวมทั้งผลการพิจารณาจัดสรรพื้นที่จำหน่าย วันที่ 1 พฤษภาคม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาระหว่างผู้ประกอบกับหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างนมโรงเรียนจะประกาศผลบนเว็บไซต์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถทำสัญญากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบการจัดซื้อนมโรงเรียนของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลการจัดซื้อของโรงเรียนเอกชนตั้งแต่วันที่ 6 – 16 พฤษภาคมนี้.-สำนักข่าวไทย