พระนคร 25 เม.ย.-กรมศิลปากร จัดเสวนาเสวยราชสมบัติกษัตรา เผยเกร็ด ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจากอดีตถึงปัจจุบัน เล่าที่มาพิธีศักดิ์สิทธิ์ในโอกาสมหามงคลของคนไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร ร่วมกับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา“เสวยราชสมบัติกษัตรา”เนื่องในโอกาสมหามงคลของปวงชนชนชาวไทยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยภายหลังการเสวนาได้นำชมศิลปวัตถุอันเกี่ยวเนื่อง ด้วยสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชในอดีต ได้แก่ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เพื่อดูพระเเท่น ,พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ที่รวมตาลปัตร พัดรองที่ระลึกงาน พระบรมราชาภิเษก ,พระที่นั่งอุตราภิมุข ที่รวบรวมผ้าอาภรณ์ต่างๆ , พระที่นั่งปัจฉมาภิมุข มีพระสุพรรณบัฎเเละพระที่นั่งวสันตพิมาน
นายชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากมองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตพบว่ามีหลายรัชกาลที่ไม่ได้มีพิธีบรมราชภิเษกเเค่ครั้งเดียว อย่างที่น่าสนใจคือในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพิธีบรมราชาภิเษกถึง 2 ครั้ง ซึ่งมีวิธีคิดที่เเตกต่างกัน คือในปี พ.ศ.2453 ทรงตั้งชื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นการทำพิธีเฉพาะภายในพระบรมมหาราชวัง และ พ.ศ.2454 ครั้งนี้เชิญราชสัมพันธ มิตรจาก 14 ประเทศ มาเป็นสักขีพยาน เพราะมองเป็นโอกาสในการอวดเกียรติภูมิ ซึ่งถือเป็นประเทศเเรกในเอเชีย ที่ทูตเเละเเขกจากต่างประเทศมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทำให้สยามประเทศได้เป็นที่รู้จักสะท้อนถึงความเป็นเอกราชของไทย ซึ่งเเนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพระองค์ได้ทอด พระเนตรเห็นพิธีบรมราชภิเษกในหลายประเทศ เเละนำบางรายละเอียดมาปรับในพระราชพิธี นำคติของสยามมารวมกับคติของต่างชาติ คติพราหมณ์เพื่อสร้างจุดเชื่อมสำคัญ อย่างกรณีพิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ถือเป็นพิธีสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อตัวเเทนต่างชาติเข้ามา ร่วมพิธีในขณะนั้นยังไม่เข้าใจ เเต่เข้าใจชัดเจนมากขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์ทำพิธีสวมมงกุฎ เป็นต้น ซึ่งภาพรวมหลังเสร็จพิธีได้รับการชื่นชมเเละเสียงตอบรับที่ดีมากจากชาวต่างชาติ ทำให้ไทยทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
ด้าน น.ส.พัสวีศิริ เปรมกุลนันท์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หมู่พระมหามณเฑียร สถานที่ที่ใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อดูสถาปัตยกรรม เป็นการออกเเบบทำหลังคาซ้อนชั้น ถือเป็นเรือนที่มีฐานันดรสูงใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายในมีพระที่นั่งสำคัญๆ ซึ่งใช้ประกอบพระราชพิธี บรมราชาภิเษก อาทิ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระเเท่นมหาเศวตฉัตร และพระเเท่นราชบรรณจถรณ์ หรือที่บรรทมของพระมหากษัตริย์ โดยมีนพปฎลมหาเศวตฉัตรอยู่ด้านบน ซึ่งการทำพิธีจะต้องบรรทม 1 คืนโดยท่าพระบรรทมคือต้องลงบรรทมตะเเคงขวา
ขณะที่เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งของ 5 องค์ ได้แก่พระมหาพิชัยมงกุฎหรือมงกุฎทองคำ น้ำหนักกว่า 7.3 กิโลกรัม หมายถึง ความเป็นพระประมุขสูงสุขของแผ่นดินเเละพระราชภาระอันหนักอึ้งที่ต้องเเบกรับ , พระเเสงขรรค์ชัยศรี เปรียบเป็นพระราชศาตราวุธ , ธารพระกร แสดงถึงพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์โดยธรรม ,วาลวีชนี พัดเเส้ แสดงถึงพระราชภารกิจที่คอยปัดเป่าความทุกข์ บำรุงความสุขให้ไพร่ฟ้าประชาชน เเละฉลองพระบาทเชิงงอน
ขณะที่นายนนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คติของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยมีรากมาจากอินเดียในพิธีราชสุริยะ พิธีจะเน้นที่การรดหลั่งน้ำ โดยแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ต้องมาจาก 4 สระและแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ เเม่น้ำป่าสัก เเม่น้ำราชบุรี เเม่น้ำเจ้าพระยา เเม่น้ำเพชรบุรีเเละเเม่น้ำบางประกง จากนั้นทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์ โดยนำน้ำอภิเษกใส่ในพระเต้าต่าง ๆ ซึ่งพระเต้าที่สำคัญสุดคือพระเต้าเบญจคัพย์ สำหรับพิธีตักน้ำ ในรัชกาลปัจจุบันเพิ่มตักน้ำจากทั่วทุกจังหวัดด้วย จากเดิมที่รัชกาลที่ 5 ใช้น้ำจากอินเดีย ส่วนรัชกาลต่อ ๆ มาใช้น้ำในไทยสะท้อนการปกครองที่เเผ่กระจายไปทั่วอาณาเขต , ต่อมาพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ เเละเเกะตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งต้องมีพระฤกษ์ ในพิธีต้องมีสงฆ์เเละพราหมณ์ เเละมีบรรดาเสนามาร่วมในพิธี ก่อนจะเข้าสู่พิธีจริง
นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผู้เชี่ยวชาญด้านอยุธยาอาภรณ์ กล่าวว่า อาภรณ์ในพระราชพิธีครั้งนี้ ทั้งผ้าเขียนทอง ผ้ายกทอง ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง เเละผ้าภูษาทรงต่างๆ เป็นครั้งเเรกที่ไทยทำขึ้นเอง ไม่ได้สั่งจากอินเดียเหมือนในอดีต.-สำนักข่าวไทย