สำนักข่าวไทย 22 เม.ย.-แกนนำแรงงาน เร่งภาครัฐปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นของขวัญวันแรงงานแห่งชาติ พร้อมเตรียมทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่เสนอไปในวันแรงงานแห่งชาติปีที่แล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันพรุ่งนี้(23 เม.ย.)
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานทั่วประเทศกำลังรอคอยการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 ซึ่งได้เลื่อนการประกาศปรับขึ้นมาถึง3 ครั้งแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดค่าจ้าง ที่มีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการฯ และก่อนหน้านี้ได้แจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างอีกครั้งหนึ่งและคาดว่าจะสามารถเคาะตัวเลขการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างออกมาใช้ได้เลยต้นเดือนเมษายน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แต่เข้าใจได้ว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนมีวันหยุดหลายวัน
ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างในสัปดาห์หน้าหรือก่อนสิ้นเดือนนี้ และอาจจะประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้กับแรงงานทั่วประเทศในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม
นายชาลี กล่าวอีกว่า ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องเร่งปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นโดยเร็ว หากไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศตามข้อเรียกร้องของภาคแรงงาน แต่จะปรับเพิ่มเท่าไหร่อย่างไร ก็ต้องเคาะออกมาแล้วเพราะเป็นการรอคอยและเกี่ยวข้องกับปากท้องของแรงงานทั่วประเทศ แต่ยังคงยืนยันว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำหลักการคือต้องปรับเท่ากันทั่วประเทศไม่ควรเลือกปรับในแต่ละจังหวัดแบบไม่เท่ากัน เนื่องจากขณะนี้ในต่างจังหวัดก็มีค่าครองชีพที่สูง ใกล้เคียงหรือบางจังหวัดสูงมากกว่าในกรุงเทพด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.)คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจและภาคีเครือข่าย จะไปทวงถามเรื่องนี้ต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงทวงถามข้อเรียกร้องอื่นๆรวม 11 ข้อที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติในปี 2561 เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการดำเนินการ
ข้อเรียกร้องสำคัญหลักๆได้แก่การปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ ,การปรับโครงสร้างค่าจ้างที่นายจ้างต้องกำหนดอัตราการปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานอย่างชัดเจน ,การปรับโครงสร้างค่าจ้าง ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำและเปลี่ยนเป็นค่าแรงแรกเข้า รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่นที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วแต่ยังไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องคือการให้สิทธิ์ลาคลอดเพิ่มเป็น 98 วัน จากข้อเรียกร้องเดิมที่แรงงานเรียกร้อง 180 วันเพื่อให้มารดาได้เลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่และขอบคุณในการดำเนินการสำหรับการเพิ่มวงเงินสิทธิประโยชน์เงินชดเชยการเลิกจ้างให้กับลูกจ้างที่มีอายุงานมากกว่า20ปีขึ้นไป เป็น400 วัน และจะยังไม่มีการยื่นข้อใหม่ในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้จนกว่าข้อเรียกร้องเดิมจะได้รับการตอบสนองทั้งหมด
ส่วนกิจกรรมในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายจะไม่มีกิจกรรมการเดินขบวนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่จะยังคงจัดกิจกรรมเข้มข้นเช่นเดิมทั้งดนตรี วัฒนธรรม การปราศรัย และออกบูธจำหน่ายสินค้าโดยจะไปใช้สถานที่โกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย