ภูมิภาค 5 ธ.ค.-สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ทางภาคใต้น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำ ในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รถไฟสายใต้ต้องงดการเดินรถ เนื่องจากน้ำท่วมรางรถไฟบางจุด โดยขบวนรถทุกขบวนจะไปสิ้นสุดที่สถานีชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชเท่านั้น
ที่จังหวัดตรัง แม้ฝนหยุดตกเข้าสู่วันที่ 2 แล้ว แต่สถานการณ์น้ำท่วมหลายอำเภอยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำตรัง ตั้งแต่อำเภอวังวิเศษ ห้วยยอด และอำเภอเมือง ระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นจุดมวลน้ำก้อนใหญ่จากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชและอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง และมีแนวโน้มจะทำให้พนังกั้นแม่น้ำตรัง ที่หมู่ 8 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองทรุดตัว ชาวบ้านต้องระดมกำลังช่วยกันบรรจุกระสอบทราย กั้นริมตลิ่งรอยต่อระหว่าง 2 ตำบล ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมวัดและโรงเรียนวัดไพรสณฑ์ รวมทั้งบ้านเรือนในชุมชนสองฝั่งแม่น้ำตรัง ส่วนถนนสายเลี่ยงเมืองเส้นทางไปจังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช ต้องปิดการจราจรทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจากมีน้ำท่วมถนนสูง 20-70 เซนิเมตร รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้เป็นระยะทางยาวเกือบ 1 กิโลเมตร ล่าสุดได้ประกาศให้พื้นที่ 8 อำเภอ คืออำเภอเมือง นาโยง รัษฎา ห้วยยอด วังวิเศษ ย่านตาขาว ปะเหลียนและนาโยงเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมฉุกเฉิน โรงเรียนอย่างน้อย 6 แห่งใน 8 อำเภอที่ถูกน้ำท่วม ประกาศหยุดเรียนต่อไปอีก 1-2 วัน อย่างไรก็ตามคาดว่าถ้าไม่มีฝนตกลงมาในระยะนี้ ระดับน้ำใน 2-3 อำเภอจะเริ่มลดลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสัปดาห์หน้า
ฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มขวางถนนสายเอเซีย บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 560 หมู่ 7 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรขาล่องใต้ ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนักนานหลายชั่วโมง ชาวบ้าน-พระสงฆ์ ต้องช่วยกันใช้ขวานและมีดฟันไม้ ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่การทางเพียง 3 คน และต้องวิ่งเร่งเคลียร์ตัดต้นไม้ที่ล้มขวางถนนในหลายจุด ตั้งแต่รอยต่อ จังหวัดสุราษฏร์ธานี-อำเภอสวี จ.ชุมพร ระยะทาง 150 กิโลเมตร ส่วนที่ตำบลทุ่งหลวง อำเภอละแม เกิดพายุงวงช้างถล่มสวนยางพารา โดยที่บ้านเลขที่ 78 หมู่ 8 ต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับบ้าน คนในบ้านทั้งคนแก่และเด็กเล็ก 5 คน ต่างวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น
ขณะที่ชาวบ้านหมู่ 1 และ 2 ของตำบลบางด้วน อำเภอปะเหลียน จ.ตรัง ผวาหลังน้ำป่าที่ไหลแรงและเชี่ยวกัดเซาะตลิ่งพังเป็นระยะตลอดเวลา โดยกินเข้าลึกกว่า 10 เมตร และมีบ้านพังเสียหายแล้ว 1 หลัง คอกสัตว์เลี้ยง คอกวัว เล้าไก่ ถูกกระแสน้ำพัดตลิ่งพังไปกับน้ำ ป้องกันสาธารณะภัยประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณะภัยแล้ว และเตรียมให้ความช่วยเหลือต่อไป
น้ำป่าจากเทือกเขาอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง หลากลงคลองท่าไม้แดง และกัดเซาะสะพานข้ามคลองไม้แดง ที่เชื่อมระหว่างบ้านลุ่มหมู่ 3 และบ้านพุยายชีหมู่ 4 รวมทั้งฝายน้ำล้นข้ามคลองท่าไม้แดง บ้านพุยายชี อีก 2 แห่ง เสียหายหนัก รถทุกชนิดผ่านไม่ได้ ประชาชนกว่า 400 ครัวเรือนถูกตัดขาดสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังมีรายงานดินเลื่อนไหลลงมาทับเส้นทางและบ้านเรือน เนื่องจากอุ้มน้ำไม่ไหว ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพื้นที่ที่มีปัญหาทุกจุดเพื่อให้ความช่วย ทั้งขอให้ประชาชนใน 7 อำเภอที่มีพื้นที่ติดชายทะเล และเป็นที่ราบลุ่ม รับน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล และพื้นที่ลาดชันเชิงเขาสูงเสี่ยงต่อดินโคนถล่ม ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดเนื่องจากยังมีฝนตกในพื้นที่ต่อเนื่อง และเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 10,000 คน เตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะที่อบต.สั่งอพยพประชาชนในจุดเสี่ยง แต่ชาวบ้านยังไม่ยินยอมออกเหตุเป็นห่วงทรัพย์สิน สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 17 อำเภอ 96 ตำบล 607 หมู่บ้าน.-สำนักข่าวไทย