ขอนแก่น 8 เม.ย. – คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ทำเบาะนั่งจากยางพาราหุ้มด้วยผ้าลายแคนแก่นคูน ช่วยส่งเสริมการแปรรูปยางพารา เพิ่มมูลค่ายาง และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำยางล้นตลาดด้วย
ดร.พันธกานต์ แก้วอาษา สาขาวิชาเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า ทางสาขาวิชาเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้ทำเบาะนั่งจากยางพารามาใช้บนรถไฟ เนื่องจากยางพารามีคุณสมบัติในการลดและกระจายแรงกด ทั้งยังมีความยืดหยุ่น ซึ่งสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นเบาะได้ และใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ อีกทั้งยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศที่มีปริมาณมาก การนำยางพารามาแปรรูปเป็นเบาะนั่งบนรถไฟนี้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่จะช่วยส่งเสริมการแปรรูปยางพารา และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาน้ำยางล้นตลาดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังนำผ้าลายแคนแก่นคูน ซึ่งเป็นลายประจำจังหวัดขอนแก่น มาหุ้มเบาะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผ้าลายแคนแก่นคูน ซึ่งเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับทางจังหวัดขอนแก่นอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้คนได้รู้จักผ้าลายแคนแก่นคูน และได้รู้จักเบาะนั่งยางพารา ซึ่งเป็นฝีมือของนักศึกษาในสาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากทางการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น ที่สนับสนุนในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ และให้ข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราอีกด้วย และหวังว่าในอนาคต เกษตรกรหรือผู้ผลิตและเจ้าของธุรกิจได้เห็นผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ก็จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น
ดร.พันธกานต์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาเบาะนั่งจากยางพาราสำหรับระบบรางชิ้นนี้ ยังช่วยในส่วนของการคมนาคมที่ไม่ใช่เฉพาะระบบราง แต่คาดหวังว่าจะมีการนำเบาะยางพารา หรือโฟมยาง ไปใช้ในการขนส่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาะบนรถยนต์ เบาะบนรถบัส หรือแม้กระทั่งการทำหมอน ซึ่งขณะนี้ก็มีการทำเป็นหมอนแล้ว ในอนาคตมองว่าควรที่จะพัฒนาเป็นหมอนในรูปแบบอื่น อาทิ หมอนขิด หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นได้ และสิ่งที่ได้นอกเหนือจากนี้ คือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น การยางแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้มีการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ ธุรกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในจังหวัดขอนแก่น ได้มีช่องทาง มีไอเดียที่สามารถต่อยอดธุรกิจในการทำผลิตภัณฑ์ในอนาคตได้. – สำนักข่าวไทย