กรุงเทพฯ 5 เม.ย. – กรมการขนส่งทางบกจับมือเครือข่ายความร่วมมือ เดินหน้าโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” เข้มข้นในช่วงสงกรานต์
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เดินหน้าโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” ที่จะดำเนินการเข้มข้นในช่วงสงกรานต์ 2562
นายกมล กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกพร้อมให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานและองค์กรที่มีเป้าหมายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในภารกิจการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ขับรถที่ประสบอุบัติเหตุและไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน ถ้าไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารโครงการจะสามารถตรวจพิสูจน์ผู้ขับรถที่ประสบอุบัติเหตุได้ 73,000 ราย ครอบคลุมการปฏิบัติงานทั่วประเทศในช่วงระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากขึ้น
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกควบคุมกำกับดูแลการความปลอดภัยการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะกำหนดมาตรการเชิงป้องกันด้วยการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจพนักงานขับรถและผู้ประจำรถทุกคนก่อนปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดทุกแห่งทั่วประเทศ 195 แห่ง และสุ่มตรวจสอบระหว่างทางบนถนนสายหลักและสายรอง ณ จุดตรวจความพร้อม 17 จังหวัด รวม 18 แห่ง หากตรวจพบพนักงานขับรถและผู้ประจำรถมีปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกิน 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สั่งเปลี่ยนตัวและส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมายทันที เพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเอาผิดผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่ควบคุมพนักงานขับรถและผู้ประจำรถ หากประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความปลอดภัย หากพบเห็นการจำหน่ายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานีขนส่ง หรือพบพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถหรือขณะขับขี่ แจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาของประเทศไทยมานานสร้างความสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมาก โดยปี 2561 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 20,169 คน (จากข้อมูล 3 ฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนประการหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สำหรับโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์ กำหนดให้อุบัติเหตุจราจรทุกกรณีที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือมีทรัพย์สินเสียหาย ผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องถูกตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ หากผู้ขับขี่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แต่ถ้าผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจทางลมหายใจได้ ให้ส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กว่า 69 ล้านบาท
สำหรับสถิติการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งมาเบิกกับกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เริ่มโครงการ 17 ธันวาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 มีผลการตรวจแอลกอฮอล์ 1,873 ตัวอย่าง พบว่าผู้บาดเจ็บมีแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 62% ของผู้บาดเจ็บที่ส่งตรวจทั้งหมด และเกินกว่ากฎหมายกำหนด 58% ในกลุ่มที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดมีผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงตั้งแต่ 100 mg% ขึ้นไป มากถึง 90% ของกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด และมีแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 150 mg% ขึ้นไป 41% ซึ่งจากข้อมูลยังสะท้อนให้ทราบว่าในผู้ขับขี่ที่ตรวจพบแอลกอฮอล์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 94% ของผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดทั้งหมดด้วย.-สำนักข่าวไทย