เชียงราย 4 เม.ย. – ผลกระทบจากหมอกควัน จ.เชียงราย ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งโรคทางเดินหายใจ เด็ก บางช่วงถึงขั้นเตียงไม่พอกับคนไข้
พยาบาลกำลังใช้เครื่อง oxymeter วัดค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย และใช้ายาพ่นลดอาการอักเสบทางเดินหายใจหรือเพื่อขยายหลอดลม ผู้ป่วยรายนี้เข้ารักษาด้วยภาวะขาดออกซิเจน แพทย์ระบุสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ท่ามกลางสภาวะหมอควันปกคลุมทั่วเมืองขณะนี้ หากรายที่เป็นรุนแรงอาจหยุดหายใจได้
นอกจากเด็กและกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจแล้ว ผอ.รพ.แม่จัน ให้ข้อมูลว่า ยังมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดและหัวใจที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แม้เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เมื่อดูสถิติย้อนหลังพบว่าช่วงปัญหาหมอกควันปกคลุมเชียงราย ตัวเลขผู้ป่วยจะขึ้นสูงสุดช่วงเดือนมกราคม และเริ่มลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ตัวเลขยังไม่ลดลง นั่นทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงขึ้น
โรงพยาบาลแม่จัน มีผู้มาใช้บริการวันละ 700-800 คน จากทั้งในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียง อย่าง อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงแสน แม่สาย
ขณะที่โรงพยาบาลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นโรงพยาบาลติดพื้นที่ชายแดน ร้อยละ 30 -40 ของผู้มาใช้บริการคือประชาขนที่ข้ามแดนมาจากฝั่งเมียนมา ซึ่งกำลังประสบปัญหาหมอกควันวิกฤติเช่นกัน เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ รวมทั้งทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มักเริ่มจากอาการคัดจมูก ไอ มีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ มีขี้ตา หรือหากเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน อาจมีเสมหะ จนไม่สามารถดูดนมได้
ผอ.รพ.แม่สาย ระบุว่า กลุ่มเฝ้าระวังโรคเสี่ยง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับตา โรคผิวหนัง อัตราส่วนผู้ป่วยย้อนหลัง 3 ปี ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นกลุ่มที่เป็นภูมิแพ้แล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกลุ่มโรคทางเดินหายใจ คาดว่าส่วนหนึ่งประชาชนดูแลตัวเองดีขึ้น เนื่องจากมีปัญหาหมอกควันติดต่อกันมาหลายปี
ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าใน จ.เชียงราย วันนี้ถือว่าดีขึ้น หลังจากมีฝนตกลงมาเมื่อวาน พบจุดความร้อนจากเมื่อวานที่ 112 จุด ลดลงเหลือ 33 จุด. – สำนักข่าวไทย