กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ตลาดโลกขยับขึ้นอีก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนใกล้กรอบกำหนดห้ามเกิน 7 พันล้านบาทแล้ว เป็นโจทย์ใหญ่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาแอลพีจีตลาดตะวันออกกลาง (ซีพี ) เดือนเมษายน 2562 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 525 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมประมาณ 50 ดอลาร์ต่อตัน และมีผลต่อราคาเฉลี่ยจำหน่ายในประเทศสูงขึ้นและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเข้าอุดหนุนเพิ่มมากขึ้นเป็น 2.90 บาท/กก. เพื่อรักษาระดับราคาก๊าซฯ ภาคครัวเรือนราคา 363 บาทต่อ ถังขนาด 15 กิโลกรัม และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนรวมมากกว่า 6,000 ล้านบาท แล้วจากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติว่าจะอุดหนุนในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาท
“ราคาแอลพีจีช่วงกลางปีน่าจะลดลงอีก การอุดหนุนก็จะน้อยลง จากที่เดือนนี้วงเงินก็จะไหลออกประมาณ 200 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น เงินอุดหนุนก็น่าจะไม่เกิน 7,000 ล้านบาท จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่คงจะต้องเข้ามาดูว่าจะอุดหนุนต่อไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็ต้องการเข้ามาดูแลเพราะเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน”รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุ
ทั้งนี้ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบพน. เปิดเผยถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดวันที่ 31 มี.ค.2562 พบว่า ฐานะกองทุนสุทธิ อยู่ที่ 32,143 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 38,273 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี ติดลบ อยู่ที่ 6,130 ล้านบาท
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) หรือ ก๊าซหุงต้ม ในช่วงไตรมาส2 ปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่า จะยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งสะท้อนตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาน้ำมันดิบนับจากนี้จะยังทรงตัว แม้ว่าราคาปิดวานนี้จะสูงสุดในรอบ 5 เดือนก็ตาม
ในช่วงไตรมาส1ที่ผ่านมา(ม.ค.-มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 32 และน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 โดยจะต้องติดตามสถานการณ์คว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐที่จะครบกำหนดในวันที่ 4 พ.ค. ว่าจะมีท่าทีอย่างไร รวมถึงการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก)ในเดือนมิ.ย.นี้ว่าจะต่ออายุมาตรการลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปหรือไม่ โดยท่าที่ซาอุดิอาระเบีย ต้องการให้ใช้มาตรการนี้ไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่รัสเซีย ต้องการใช้มาตรการนี้ไปถึงเดือนก.ย.นี้ -สำนักข่าวไทย