รัฐสภา 26 ส.ค. – ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พิจารณา 3 วาระรวด เพิ่มจำนวน สนช. จากไม่เกิน 220 เป็นไม่เกิน 250 คน เพื่อพิจารณากฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะมีเสนอกว่า 100 ฉบับ และพิจารณากฎหมายลูก 10 ฉบับ ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เริ่มขึ้น เวลา 10.30 น. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการพิจารณาสามวาระรวด มีการแก้ไข 1 มาตรา คือ มาตรา 6 เพื่อแก้ไขจำนวนสมาชิกสนช.จากเดิม 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน และเพิ่ม 1 มาตรา คือมาตรา 4 เพื่อรับรองสถานะของสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ในครั้งนี้ให้ชัดเจนว่า สมาชิกสนช.ที่มีอยู่แล้ว 218 คน ให้ยังเป็นสมาชิก สนช.อยู่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า คสช.และคณะรัฐมนตรี เข้าใจการทำงานของ สนช. ซึ่งในเวลาต่อไป จะมีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เป็นจำนวนมาก คสช.และครม.มีเจตนาช่วยการทำงานของ สนช.ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวน สนช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ไขครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะขอเพิ่มเติมมาตรา 4 อีกมาตราหนึ่งเสมือนเป็นบทเฉพาะกาล โดยเพิ่มข้อความในร่างแก้ไขว่า “มาตรา 4 ให้สมาชิก สนช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นสมาชิก สนช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้” การเพิ่มจำนวนสมาชิก จาก 220 เป็น 250 คนนั้นเพราะเล็งเห็นว่า อาจไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่สำคัญในช่วง 1 ปีเศษหลังจากนี้ เนื่องจาก สนช. มีภารกิจสำคัญที่จะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องการความละเอียดอ่อน ต้องการเวลา และความคิดที่หลากหลายของบุคคลหลากหลายอาชีพมากขึ้น รวมทั้งให้เหมาะสมกับปริมาณงาน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนช. ออกกฎหมายแล้ว 190 ฉบับ ยังค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการจำนวน 20 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้ เป็นกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล แต่หลังจากนี้ไป นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ช่วงปลายปีนี้ กฎหมายที่เข้า สนช.จะมี 2 ประเภท คือ ประเภทแรก กฎหมายตามนโยบายรัฐบาล คาดว่าจะมีจำนวน 100 ฉบับ ที่จะเข้ามาในช่วง 1 ปี 4 เดือนหลังจากนี้ และประเภทการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งถูกกำหนดเนื้อหาสาระ วันและเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ
นายวิษณุ กล่าวว่า จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้มีผู้เข้าร่วมพิจารณาอย่างรอบคอบ บางฉบับกำหนดระยะเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน 120 วันหรือ 240 วัน นับรวมกระบวนการตั้งแต่การยกร่างกฎหมาย จนกระทั่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น จึงเห็นควรให้เพิ่มจำนวน สนช.จากไม่เกิน 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสม โดยอ้างอิงจากจำนวนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และจำนวนวุฒิสภาชุดแรกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ขณะที่ สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานของ สนช.เพราะการทำหน้าที่ของสนช. ไม่เหมือนช่วงสภาปกติ ไม่มีช่วงปิดเทอม ทำงานมาตลอด 2 ปีไม่ได้พัก และด้วยระยะเวลาจำกัดต้องพิจารณากฎหมายลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
หลังการอภิปราย ที่ประชุม สนช. ลงมติเอกฉันท์รับหลักการวาระแรก ก่อนตั้งกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาวาระ 2 และ 3 เรียงตามมาตรา ซึ่งเห็นชอบ เพิ่มความตามมาตรา 4 จากนั้นที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบ และจะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป รวมใช้เวลาในการพิจารณา กว่า 2 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย