26 ส.ค.- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ประจำวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559
ผมขอขอบคุณและชมเชยทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนนะครับ ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายโครงการ หลายอย่างที่ประสบความสำเร็จ มาตามลำดับขั้นนะครับ ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพี่น้องประชาชน คนไทยทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม แต่เล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ อาทิ การกำจัดผักตบชวา การช่วยกันกำจัดขยะชุมชน การทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรผสมผสาน ตามคำแนะนำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช และมีหลายๆ ส่วน หลายพื้นที่ ที่ได้ใช้วิธีการของโครงการเกษตร “1 ไร่ 1 แสน” มีการทดลองปฏิบัติทำไปบ้างแล้ว ก็ได้ผลดีตามที่แนะนำไป
ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ ขอบคุณทุกส่วนที่ช่วยกันดูแลตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการน้ำให้มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด มีอยู่บ้านแน่นอน อาจจะขังท่วมบ้างแต่ต้องเร่งระบายให้ได้โดยเร็ว ปีนี้ก็นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในส่วนของแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม พันกันไปทั้งคู่ เศรษฐกิจไม่ดีก็ทั้งนี้เนื่องจากแรงซื้อ กำลังซื้อลดลงจากต่างประเทศ ก็ทำให้กระบวนการภายในเกิดปัญหา
ในด้านการผลิตแล้วก็ทำให้สังคมมีปัญหาตามไปด้วย ไม่ว่าจะเรื่องยาเสพติด ไม่ว่าจะเรื่องการลักเล็กขโมยน้อย อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันเฝ้าระวังให้มากขึ้น อย่ามาโทษกันไปกันมา เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ขอความร่วมมือด้วย ในด้านการต่างประเทศ วันนี้ก็มีผู้มาขอพบผมในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมากหลายประเทศด้วยกัน ทุกคนก็มีความเห็นว่าเราก็มีการเดินหน้าประเทศไทยโดยการผ่านการทำประชามติ เป็นไปตามกระบวนการสากล นะครับ แล้วก็ให้กำลังใจในการจะเดินหน้าต่อไป ความขัดแย้ง การต่อต้านยังมีอยู่บ้าง ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ บางครั้งก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน
ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม หลายกระบวนการได้นำเข้าไปสู่การพิจารณาคดีแล้ว ผมไม่ได้เร่งรัด เป็นเรื่องของกระบวนการเขาทำ ประเด็นเรื่องจำจำข้าวก็มีหลายคนออกมากล่าวอ้างว่า ผมไปสั่งว่า ไม่ต้องสนใจกระบวนการยุติธรรม ความหมายไม่ใช่อย่างนั้น ผมเพียงแต่บอกว่าในส่วนของหน้าที่ของคณะทำงานนี้ ก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบหาหลักฐาน ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็เป็นเรื่องของศาลก็ให้เขาทำไป ไม่ได้หมายความบอกว่าไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมอย่างที่กล่าวอ้างกันมา บางครั้งในการบันทึกต่างๆ เขามีความหมายของเขาอยู่แล้ว ก็ไปตีความกันอีกแบบหนึ่ง ผมคงไม่ปัญญาน้อยแบบนั้น หลายอย่างผลสัมฤทธิ์ อย่างที่ผมกล่าวมาแล้ว หลายอย่างอาจจะไม่ได้กล่าวถึง ต้องขอบคุณนะครับ ขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการเปลี่ยนผ่านประเทศในห้วงเวลานี้ มีอยู่หลายมิติหลายเรื่อง หลายกิจกรรมที่เราจะต้องช่วยกันนะครับ ผมทำคนเดียวไม่สำเร็จหรอก จะนำไปสู่ “การปฏิรูปประเทศ” หลายคนก็ยังมีความขัดแย้ง หลายคนก็ยังเห็นต่าง ต้องหาทางร่วมมือกันให้ได้ หลักที่สำคัญก็คือทำอย่างไร เราถึงจะยอมรับการปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นตัวคน บุคคล องค์กร หรือกระบวนการภายใน การบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็ข้าราชการ เพื่อที่จะให้ข้าราชการและหน่วยงานต่าง ๆ นั้นสามารถปฏิบัติงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพเราไม่ได้มุ่งเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว เราต้องสร้างความเข้าใจ ทุกหน่วยงานจะต้องทำแบบนั้นให้ประชาชนเรียนรู้ เข้าใจ ถึงจะไปสู่การปฏิรูปได้ แล้วจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งนะครับ ประเทศชาติมาก่อนเสมอ ทุกแผนงานและโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น เราทำหลายอย่างด้วยกันนะครับ ไม่ว่าจะในเรื่องของการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเดิมๆ ซึ่งพันกันไปกันมา หลายขั้นหลายตอน หลายส่วนที่เกี่ยวข้อง และในเรื่องของการพัฒนาประเทศในช่วงนี้ ลงทุนประเทศ เพื่อจะรองรับในวันข้างหน้า สู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือการพัฒนาประเทศที่ใช้งบประมาณสูงขึ้น เราต้องพัฒนารายได้ประเทศให้มากขึ้นนะครับ ถึงจะก้าวไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”
การดำเนินการดังกล่าวนั้น ผมว่าอาจจะต้องใช้เวลานะครับที่ผมทำมา 2 ปี ก็อาจจะสำเร็จได้ในระยะหนึ่งหรือระยะแรก บางอย่างก็เริ่มต้นได้ บางอย่างก็เข้าไปครึ่งทางแล้ว ทำนองนี้นะครับ อยากให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันติดตามด้วย คือเราจะร่วมมือกันอย่างไรนะครับ จากทุกภาคส่วนตามแนวทาง “ประชารัฐ” อย่ามาขัดแย้งกันอีกเลย ท่านทำหน้าที่ของท่าน ตามภาระหน้าที่ของท่านไม่ว่าจะเป็นพันธะกรณีย์ หรือเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของสากล ผมไม่ได้ขัดแย้งท่าน แต่ท่านก็อย่าลืมว่าสิ่งใดก็ตามที่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศ หรือทำให้ประเทศนั้นมีปัญหานี่ ท่านก็ต้องคำนึงถึงประเทศชาติด้วยนะครับ อยากให้มองประเทศชาติมาก่อน ในส่วนของการแก้ไข อะไรที่ไม่ถูกต้องก็มาว่ากันผมก็พร้อมจะแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่เอาประเทศไปประจานในสิ่งที่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงนะครับ
ตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งก็คือ “โครงการทางพิเศษสายศรีรัช –วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร” เริ่มก่อสร้างในปี 2555 แผนการก่อสร้าง 4 ปี แต่ด้วยความร่วมมือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไปจนถึงการบริหารจัดการ การให้บริการและด้านบำรุงรักษา รวมทั้ง รัฐบาลนี้ขอความร่วมมือจากการทางพิเศษฯ (กทพ.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) ให้ช่วยเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้น ปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานะครับ ผมได้ไปเปิดมาแล้ว เร็วกว่าแผนงานเดิมถึง 4 เดือน นะครับ ก็ถือว่าเร็วทันใจนะครับ ไม่งันก็ช้ากันไปเรื่อยๆ ทุกโครงการ ไปไม่ได้หมด ช้าตั้งแต่ต้นก็มีนะ จัดที่ดินไม่ได้ ผ่าน EIA ไม่ได้ HEIA ไม่ได้ นั่นคือความยากนะครับในการทำงานของรัฐบาล ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้จะมาแบบนี้ก็ตาม มีอำนาจ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่อยากไปหักด้ามพร้าด้วยเข่านะ ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าโครงการนี้นะครับ นี่พูดถึงสะพาน และเส้นทางเมื่อกี้นี้นะ ก็เป็นส่วนหนึ่งนะครับ ของนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่มีอยู่มากมายในด้านการคมนาคมขนส่งทางบก ที่จะต้องช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร เพื่อเป็นทางเลือก ลดระยะเวลาในการเดินทางของประชาชน “ในทางตรง” พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นได้ “ในทางอ้อม” ที่ว่าอ้อมก็คือเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะประหยัดลง ใช้น้ำมันน้อยลง สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยลง แล้วทำให้ไม่สิ้นเปลือง ทั้งเวลา ทั้งเงิน แล้วก็ทำให้ปลอดภัยนะครับ ก็ต้องทำแบบนี้นะครับ ค่อยๆ ทำไป เรางบประมาณจำกัด ทำทุกอย่างๆ เวลาเดียวกันแล้วก็ทำไม่ได้เพราะงบประมาณจำกัด เราเสียงบประมาณไปในช่วงที่ผ่านมาหลายเรื่องด้วยกัน ที่ไม่ค่อยมีผลเป็นรูปธรรมเท่าไรนะครับ การเชื่อมต่อ 1 สถานีระหว่างสถานีบางซื่อ สายสีน้ำเงิน กับสถานีเตาปูน สายสีม่วง ผมทราบดี ปัญหานี้มีมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนผมเข้ามา พยายามไปแก้มา 2 ปีแล้ว วันนี้ก็ต้องแก้ให้ได้นะครับ เข้าใจถึงความเดือดร้อน ทำได้ล่ะ ร่างสัญญามาแบบนั้นนะครับ ผมก็ต้องหาวิธีการทำให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่าเพิ่งว่ากันไป กันมาเลยนะครับ ผมเข้ามาแก้ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรนั้น เราไม่ได้นิ่งเฉยเลย เดินหน้าหาจุดลงตัวให้ได้ ทั้งการวางแผนให้ครบวงจร เรื่องปัญหาทางกฎหมาย ระเบียบกฎต่างๆ มีเยอะแยะไปหมดนะ
เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะขอความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนะครับ ปัจจุบันเป็นขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์ ในเรื่องของส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร และการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีก 1 สถานีนะครับ พร้อมทั้ง การรับฟังความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเป็นข้อพิจารณานะครับ ในการที่จะให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนและคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อใช้ในการกำหนดกรอบเวลา วางระบบเดินรถและเชื่อมต่อ 1 สถานี นะครับ รวมถึงการเจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM) เพื่อให้เข้ามาบริหารการเดินรถส่วนต่อขยาย เชื่อมต่อโครงข่ายให้เป็นระบบเดียวกัน แล้วขอให้เร่งรัดทุกขั้นตอนนะครับ ให้เสร็จโดยเร็ว จะต้องคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนเป็นอันดับแรก แล้วก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐด้วยนะครับ เพราะถ้าใช้เงินทุนจำนวนมาก อะไรที่ทำไม่ได้ ก็ต้องทำให้ได้นะครับ ต้องหาวิธีการจนได้นะ แต่ผมก็ต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายนะครับ ยิ่งกว่านั้น ทุกโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูง-ทางด่วน-ท่าเรือ-ท่าอากาศยาน รวมความถึงโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ด้วยนะครับ
เหล่านั้นจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศโดยรวม ประชาชนก็มีทางเลือก มีอาชีพการงานมากยิ่งขึ้น มีโอกาสนะครับมากขึ้น แล้วเราก็จะได้พร้อมกันที่จะสนับสนุนบทบาทร่วมกัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในทุกมิติในอนาคต ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศนะครับ เชื่อมต่อกันหลายทาง รถไฟทางคู่ก็ทำใช้ในประเทศ รถไฟความเร็วสูง ก็ดูความจำเป็นนะครับ ว่าจะเชื่อมไปไหนก่อน วันนี้เขาก็เชื่อมกันมาหมดแล้ว ก็รอต่อที่เราด้วยนะครับ ประเทศเพื่อนบ้านก็สร้างแล้ว จะต้องต่อกันไม่อย่างนั้นสร้างไปก็ไร้ประโยชน์ ผมไม่ได้สร้างทุกเส้นในเวลาเดียวกันเมื่อไร อันนั้นเพื่ออนาคต ในประเทศก็ทำ ไม่ว่าจะเป็น 1 เมตร ไม่ว่าจะเป็นทางคู่ สวนไปมา เราก็ทำทั้งหมดนะครับ ก็ต้องแบ่งงบประมาณในการทำ เพราะหยุดอันใดอันหนึ่งไม่ได้เลย ต้องย้อนถามกลับมา ที่ผ่านมาไปอยู่ที่ไหนกันล่ะ ทำไมไม่ทำแบบนี้
รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขหลายๆ เรื่องอยู่นะครับ แม้ว่าปัญหานั้น ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเกิดจากการทำสัญญาไว้เดิมๆ ก่อนที่รัฐบาลนี้ หรือก่อนที่ผมเข้ามาก็ตาม เราต้องให้เวลากับเจ้าหน้าที่นะครับ ต้องรอบคอบ ทั้งเรื่องกฎหมายและการเจรจากับเอกชน ต้องคุ้มค่าที่สุดนะครับ ไม่เอื้อประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ อย่าไปมองอย่าเดียวนะ เจรจาแล้วเอื้อประโยชน์ ไม่ใช่หรอกนะครับ รัฐจะต้องไม่เสียเปรียบ แล้วทำให้เร็ว ก็ไม่อยากให้ไปพูดจากันให้เสียหายต่อไปนะครับ ไปเอื้อประโยชน์โน่นนี่ ก็ไม่มีใครทำหรอก ที่ผ่านมาสัญญาไม่ได้ระบุไว้ ใครจะทำก็เลยเกิดปัญหาขึ้นนะครับ ต้องไปทำลูป (Loop) ขึ้นมาใหม่อีกลูป (Loop) ด้วยซ้ำไป
ทั้งนี้ สังคมไทย ควรเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ไว้ใจผม ไว้ใจคณะทำงานรัฐบาล เราพยายามจะแก้ไขนะครับข้อบกพร่องต่างๆนั้นจะต้องเป็นบทเรียน ต้องนำไปสู่การปฏิรูป นำสู่การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ต้องวางไว้หลายๆ แผนต่อไปนะครับทำงานให้เป็นระบบ ตามแผนงาน ตามยุทธศาสตร์ ทำให้ครบวงจร อย่าไปคิดเฉพาะต้นทาง แล้วก็ปลายทาง ตรงกลางก็สับสนอลหม่านกันไปหมดนะ ผมก็แก้ให้แทบตายอยู่นี่ บางอย่างก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ขออย่ามาต่อต้านกันอีกเลยนะครับ พยายามทำทุกอย่างให้สำเร็จนั่นแหละ โดยไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ก็ขอฝากพี่น้องประชาชน รัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงาน นักสิทธิมนุษยชนต่างๆ นั้นช่วยติดตาม หาความร่วมมือในการทำงานของ รัฐบาลนี้ และรัฐบาลต่อๆ ไปด้วย นะครับ เพื่อความเป็นธรรม ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงกันเลยก็เกิดอะไรขึ้นไม่ได้ เหมือนเดิมนั่นแหละ ขัดแย้งกันอยู่ที่เดิมทั้งหมด ในขณะที่รอบบ้านเขาเดินหน้าไปได้เยอะแล้วนะ
ในการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด นะครับ ที่ผ่านมา เพื่อจะไปติดตามการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ผมก็พยายามเน้นในเรื่องของกลุ่มจังหวัดนะครับ แล้วก็จังหวัดหลักนะครับ ที่มีขีดความสามารถ มีศักยภาพ ผมได้มีโอกาสประชุมร่วมกันรับทราบ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ของจังหวัดร้อยเอ็ด” นะครับ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ มีบริษัทประชารัฐจังหวัดแล้วนะครับ เพื่อจะมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัด เนื่องจากวัยแรงงานร้อยละ 40 ละถิ่นฐาน จังหวัดร้อยเอ็ด ไปทำงาน แสวงโชคในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการ “ขาดพลัง” ในการขับเคลื่อนจังหวัดนะครับ
แนวคิดในการสร้างโอกาสสร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องชาวร้อยเอ็ดในครั้งนี้ เป็นการสำรวจศักยภาพที่แท้จริงของจังหวัด อันจะต้องเป็นปัจจัย “ภายใน” ที่สำคัญ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับปัจจัย “ภายนอก” ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงทางธรรมชาติ มีน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทั้งนี้นโยบายรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” นั้นจะต้องสอดคล้องกับแนวโน้มของสถานการณ์โลกอีกด้วยในเวลาเดียวกันนะครับ ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ถึงกันทั้งหมด
สิ่งที่เราค้นพบ คือ (1) ในเรืองของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ “ทุ่งกุลาร้องไห้” วันนี้ไม่ร้องไห้แล้ว แต่ชื่อยังร้องไห้อยู่ เกือบ 1 ล้านไร่ ใน จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมี “ข้าวหอมมะลิ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แล้วได้รับการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชีทางภูมิศาสตร์ ที่เรียกว่า GI สำคัญที่สุดนะครับเรื่องสินค้า GI นี่ ผมก็เร่งรัดกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว กระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว ช่วยกันดำเนินการ ที่ผ่านมาอาจจะทำได้ช้าเกินไปนะครับ ก่อนผมเข้ามา อันนี้เราจดไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 ต่อไปก็ต้องส่งเสริมให้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI เหล่านี้ เช่นข้าว หรืออะไรอย่างอื่นก็แล้วแต่ เพื่อส่งออกไปขายใน EU ต่อไปนะครับ หลายๆกลุ่มประเทศเขาต้องการ เราต้องทำให้ถูกต้อง ตามมาตรฐาน
นอกจากนั้นต้องนำเอาวิทยาการสมัยใหม่ มาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิต การแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับ “ข้าวหอมมะลิแห่งทุ่งกุลาฯ” ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ เชื่อมโยงกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ให้ได้ ในอนาคตนะครับ จ.ร้อยเอ็ด ของเรานั้นอาจเป็น “Rice Innopolis” ก็ได้ เกี่ยวกับเรื่องข้าว ต้องมองให้ครบวงจร ดูแลเรื่องของ New Start-up ไว้ด้วยนะครับ แล้วก็การซื้อขายผ่านทาง Internet ชำระเงินผ่านระบบ Electronics เป็นต้น เหล่านี้นะครับ เราต้องทำเป็น 2 อย่าง ยังไงก็ตาม ก็ต้องมีทั้งการเกษตร มีทั้งอุตสาหกรรม เพื่อเป็นทางเลือก หรือเป็นอาชีพเสริม เราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย แต่ทำอย่างไรจะไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไม่เสียหาย คนจะได้กลับมาสู่บ้าน ลูกอยู่กับพ่อกับแม่ ทำงานในจังหวัด เหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันหมด กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ก็ไม่แออัด เราขยายเท่าไรก็ไม่พอหรอกครับ ทางด่วน ทางรถไฟ รถไฟฟ้า ไม่มีพอ เพราะฉะนั้นผมว่าไปสร้างในแต่ละภูมิภาค แต่ละกลุ่มจังหวัด แต่ละจังหวัดดีกว่านะ ยังทำได้อยู่ เพราะพื้นที่ยังมีอยู่นะครับ ไม่อย่างนั้นในกรุงเทพฯ เวนคืนกันเสียหาย งบประมาณมากมายนะครับ ข้อขัดแย้งสูง
(2) คือเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว ให้เป็น “Package” นะครับ ก็คือเชื่อมโยง เชื่อมโยงกันให้ได้ ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมา จ.ร้อยเอ็ด ราว 7 แสนคนต่อปี แต่วันพักเฉลี่ยเพียง 2 วันนะครับ แต่ถ้าเรามองตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยงอื่นๆ ในจังหวัดข้างเคียง ในกลุ่มจังหวัดนะครับ ผมให้แนวทางไปอย่างนั้น มาร้อยเอ็ด แล้วต้องไปที่อื่นด้วย ได้หรือไม่ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดใจคนได้หรือไม่ ใช้เวลามากกว่านี้หน่อย ก็ได้ทุกจังหวัดนะครับ เพราะบ้านเรานี่มีของดีๆ ทุกจังหวัด ถ้าทำลักษณะเป็น “แพ็กเก็จ ทัวร์” ก็น่าจะดีนะ สร้างแรงดึงดูดได้มากขึ้นนะครับ กระทรวงการท่องเที่ยวรับไปแล้วนะครับ เราก็อยากจะให้เป็นอย่าง ที่เขาเรียกกันว่า “สามเหลี่ยมท่องเที่ยวสาเกตนคร” คือชื่อเดิมของจังหวัดร้อยเอ็ดนะครับ ก็จะเป็นแนวคิดเริ่มต้น แล้วก็ต้องพัฒนาต่อไป จะได้ไปเชื่อมโยงกับ แพ็กเก็จ ของ การท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย มาประเทศเรา ไปประเทศเพื่อนบ้าน อะไรทำนองนี้ ในแต่ละ คลัสเตอร์นะ ของการท่องเที่ยว จะเพิ่มมูลค่า ทั้งการใช้จ่ายในพื้นที่ มูลค่าของรัฐ แล้วก็ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านเขาด้วยนะ สนับสนุนซึ่งกันและกันนะครับ Stronger Together สิ่งที่สำคัญที่สุดนะครับ ก็คือเรืองของการปรับปรุงระบบการให้บริการ ความสุภาพเรียบร้อย การอำนวยความสะดวก การดูแลความปลอดภัย การทำบ้านเมืองให้ “สะอาดตา น่าอยู่” ปราศจากขยะอะไรเหล่านี้นะครับ หญ้ายาวๆ ข้างถนนนี่ต้องกำจัดให้หมด หน้าบ้าน หลังบ้านนะ จะสวยงามขึ้น ง่ายๆ ทุกคนทำบ้านตัวเองก็ช่วยกันแล้วล่ะ อย่ารอเจ้าหน้าที่อย่างเดียวนะครับ เจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอ
สำหรับโครงการอื่นๆ ขนาดใหญ่นะครับ อาทิ โครงข่ายการคมนาคม และการบริหาจัดการน้ำนั้น ผมก็ได้รับเรื่องมาทั้งหมดนะครับ แล้วก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าอะไรอยู่ในแผนงานอยู่แล้ว อะไรที่ยังไม่อยู่ ผมก็ให้เสนองบประมาณเข้ามานะครับ ก็จะสนับสนุนงบกลางให้ทำให้ได้นะครับ แล้วก็จะเชื่อมโยงไปจังหวัดอื่นด้วย ที่เป็นกลุ่มจังหวัดเดียวกันนะครับ ไม่อย่างนั้นผมไปไม่ครบทุกจังหวัด บางจังหวัดก็เลยไม่ได้ ผมได้สั่งงานไปใหม่แล้วนะครับ ให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเข้าไปดูงานของตัวเองในลักษณะเป็นกลุ่มจังหวัดนะครับ แล้วผมไปที่ไหนก็ตาม กลุ่มจังหวัดเหล่านั้นก็จะได้ไปด้วย เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง นี่คือประเด็นของผม งบประมาณตรงนี่สำคัญ ส่วนภายในมีงบประมาณปกติอยู่แล้ว ก็ว่ากันไปนะครับ ทุกจังหวัด งบบูรณาการก็ไปเอามาเพิ่มเติมกันในนั้น ในเรื่องเหล่านี้นะครับ รัฐบาลวางรากฐานไว้ทั้งหมด
เราต้องต่อ “จิ๊กซอ” เหล่านี้ให้สมบูรณ์ เติมให้เต็ม ให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ไม่ใช่ต่อกันเป็นตอนๆ ท่อนๆ แล้วก็เชื่อมกันไม่ได้ ก็เป็นภาพสวยงามไม่ได้ แหว่งๆ เว้าๆ ตรงโน้น ตรงนี้ทุกเรื่องไปเลย พี่น้องประชาชนครับสำหรับการนำพาประเทศไทยให้หลุดออกจากคำว่ากับดักรายได้ปานกลางนั้น ไม่ง่ายแล้วก็ไม่ยาก ถ้าเราช่วยกัน โดยใช้อาศัยคำว่า “นวัตกรรม” นะครับ คือสิ่งที่เราคิดมาใหม่ ทำมาใหม่ เพิ่มมูลค่า ไม่ทำสิ่งเดิมๆ ขายเขาต่อไป เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักนะครับ ในการที่จะพัฒนาท่ามกลางโลก “ยุคโลกาภิวัฒน์” คือโลกไร้พรมแดน วันนี้นะแคบลง มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร กลายเป็น “โลกไร้พรมแดน” อย่างที่ว่านะครับ สามารถจะส่งข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะดี จะร้าย จะถูกหรือผิด ทำได้ภายในเวลาเป็นวินาที หรือ “เสี้ยววินาที” เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังนะครับ การที่จะใช้ โซเชียลมีเดีย ใช้ต่างๆ พูดจา หรือเขียนในสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือไม่มีหลักฐาน ออกไปถึงโลกข้างนอกด้วย แล้วเขาจะมองประเทศเราอย่างไรนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าใครเจตนาบริสุทธิ์ ผมไม่ว่านะ แต่บางคนเจตนาร้าย เจตนาไม่บริสุทธิ์ บางทีก็ให้ร้ายประเทศตัวเอง บุคคลเหล่านี้ไม่น่าเจริญนะ
เพราะฉะนั้นเราต้องค้นหาตนเองให้เจอนะครับ ต้องเร่งพัฒนาตนเอง เดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธา ความศรัทธาสำคัญนะครับ จะเอาชนะอุปสรรคทุกอย่าง ทั้งภายในและภายนอกให้ได้ ผมก็จะต้องเข้มแข็ง อดทนให้มากยิ่งขึ้นเพราะงานยังไม่เสร็จ เราต้องอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยใช้สอยอย่างคุ้มค่า ก็ต้องฝากนักสิทธิมนุษยชนด้วยนะครับ คือถ้าเราขัดขวางเรื่องนี้เรื่องโน้นไปซะทั้งหมดเลย ก็เกิดอะไรขึ้นไม่ได้ แล้วน้ำก็ท่วม ฝนก็แล้ง สร้างอะไร อุตสาหกรรมไม่ได้ สร้างแหล่งพลังงานไม่ได้ แล้วทั้งหมดบอกจะต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติแบบซ้ายสุด หรือขวาสุดนี่ ผมก็ลำบากนะ วันหน้าเราจะเดินประเทศลำบาก ผมไม่ได้หมายความว่าจะไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพียงแต่ว่าต้องทำ 2 อย่างให้มีความสมดุล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นรายได้ประเทศไม่มีขึ้นหรอกครับ แล้วใครจะผลิตล่ะ ปลูกข้าวอย่างเดียวจะพอไหม วันหน้าปลูกข้าวไม่พอกินด้วยซ้ำไป วันนี้อาหารการกินเขาก็เน้นเรื่อง เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ของเราทำได้ไหมล่ะ เราทำได้โอเค จะไปขายใคร เพราะต่างประเทศเขาก็ทำเหมือนกัน บางประเทศเขาไปลงทุนปลูกในประเทศที่แรงงานถูก หนักขึ้นเรื่อยๆ เราจะสู้เขาไหวไหม ถ้าเราไม่ปรับปรุงตัวเองวันนี้ ไปไม่ได้แน่นอนนะครับ เราจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น โดยที่กลไกตลาดโลกต่ำ ผมก็ไม่เห็นวิธีการนะครับ วิธีการที่เขาทำผ่านมาก็เห็นแล้ว ปัญหาเกิดอะไรขึ้น
เราอย่าไปบิดเบือนเลยนะครับ เรามาช่วยกันให้ทุกคนเข้มแข็งด้วยการสร้างพลัง ร่วมมือกันและแก้ไขตัวเอง เพราะฉะนั้นลูกหลานมาทำงานต่างจังหวัดมีปัญหา พ่อแม่ก็ไม่มีแรง ต้องเช่า ต้องซื้อ ต้องโทรศัพท์สั่งงานตลอด แล้วระหว่างนั้นก็ไม่มีเงินใช้ ต้องกู้หนี้ยืมสินเข้ามา ต้องขายข้าวเอาเงินมาใช้หนี้ แล้วถามว่าเมื่อไหร่จะเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ลูกหลานก็ไม่ได้กลับบ้านกันพอดี เหล่านี้เป็นปัญหาสังคมต่อไปด้วยนะครับ เราจะต้องร่วมมือกันสร้างทรัพยากรมนุษย์ของเรา วันนี้สร้างด้วยการเรียนรู้นะครับมันไม่สายเกินไปหรอกนะ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ คนเฒ่าคนแก่ เด็ก ผู้หญิง คนชรา ได้หมด อ่านหนังสือเอา เรียนการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) เอา ที่กำลังเรียนอยู่ก็ไปมหาวิทยาลัย ไปอาชีวะ
เราต้องสร้างทั้งคนดี คนเก่ง ฉลาด มีคุณค่า มีคุณธรรม นะครับ เราถึงจะมีองค์กรที่มีจริยธรรม มีรัฐบาล หรือมีประเทศที่เป็นธรรมาภิบาลนะ มัน มัน ทุกอย่างมันเริ่มจากคนทั้งสิ้นนะ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ก็ตาม นะครับ เราต้องใส่ใจ ให้การสนับสนุน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน เชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ สตาร์ทอัพด้วยนะครับ เอสเอ็มอีทั้งหมดหละ มันเป็นห่วงโซ่เดียวกันทั้งหมด ความต้องการ การผลิต ไปถึงวัตถุดิบ ไปถึงการแปรรูป สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า ไปถึงการตลาดในประเทศ ในภูมิภาค ในต่างประเทศ มันโยงกันหมด เราไปหยุดอันใดอันหนึ่ง มันไม่ได้หรอกครับ นะ ก็อยากให้เข้าใจด้วย เราถึงมีบริษัทประชารัฐเกิดขึ้นมาไง มันจะได้เชื่อมต่อไอ้รอยต่อเหล่านี้ ทุกคนจะต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธา ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน คิดแล้วก็ทำ หาวิธีในการทำให้ได้ ถ้าคิดแล้วไม่ทำ หรือคิดแล้วต่อต้าน แบบเดิม ไม่มีไปรอดหรอกครับ สำเร็จก็ไม่สำเร็จ หลายคนเขาทำแล้ว เขาไม่ต่อต้าน เขาทดลองทำดู วันนี้เขารวยหมดแล้ว ปลูกกล้วย ปลูกถั่ว ปลูกอะไรต่างๆ แล้วแต่ แต่ปลูกข้าวก็ยังบ่นกับผมว่า แหม ขายข้าวไม่ได้ ขอให้รัฐบาลช่วย ผมจะช่วยอะไรได้ล่ะ ในเมื่อซื้อมาราคาสูงกว่าท้องตลาด แล้วมันจะไปขายใคร เงินของประเทศมันก็หมดไป การพัฒนาประเทศมันก็หายไป การช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นก็ไม่มีอีก การลงทุนก็ไม่เกิดอีก แล้วมันจะไปยังไง มันจะถอยหลังจากปานกลาง ลงไปรายได้ต่ำอีกหรือเปล่า เท่านั้นเอง เพราะมันล้มเหลว เราต้องมองโลกไปด้วยในปัจจุบันนะครับ อย่ามองแค่ที่บ้านตัวเอง ที่จังหวัดตัวเอง ตำบล อำเภอ ผมว่าไม่พอ เราต้องเปิดตาให้กวาง เรียนรู้ ฟัง อ่าน เชื่อไม่เชื่อก็เรื่องของท่าน ถ้าเชื่อ แล้วทำ แล้วมันดี มันก็โชคดีของท่านไป ถ้าไม่เชื่อ หรือเชื่อ แล้วไม่ทำอะไรเลย มันก็ได้เท่าเก่า
วันนี้ต้องมองคนต่างชาติเขาด้วยนะครับ เขาก็มุ่งจะมาลงทุนในประเทศไทย เขามาพบผมเกือบทุกวัน เขาอยากจะลงทุนที่นี่ ที่โน่น อยากให้คนไทยไปลงทุนบ้านเขา บ้านเรายังมีศักยภาพเป็นศูนย์กลาง เขาพูดกับผมแบบนี้ แล้ววันนี้บ้านเมืองเราก็สงบดี ก็สงสัยว่าเอ๊ะทำไมมันยังมีกระแสเหล่าโน้นเหล่านี้แต่ผมอธิบายเขาไปแล้ว อยากให้เขามาดูตั้งแต่ก่อนพ.ศ.2557 ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วผมเป็นคนทำหรือเปล่า แล้ววันนี้เราทำอะไรเสียหายกว่าเดิมหรือเปล่า มันก็เพียงแค่คำเดียวที่ทุกคนคิดว่ามันยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือคำว่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ซึ่งผมไม่เคยละเมิดใครเลย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ประกาศไว้แล้วทั้งสิ้น กฎหมายเขาไม่ยกเว้นนะครับ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนชรา กฎหมายเขาเขียนสำหรับมนุษย์ทุกคน เพียงแต่ว่ามากน้อย เกณฑ์การลงโทษมันก็ต่างกันออกไป อย่าฝืนกฎหมาย นะ มันให้อภัยกันไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมมันมีอยู่นะครับ ให้ไปแล้วก็ยังไม่สำนึกบางคน ปล่อยออกมาให้ออกมาก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เหมือนกับประเทศนี้ไม่มีขื่อมีแป สังคมเขาก็รังเกียจอยู่นะ ประชาชนเขาก็เบื่อหน่าย ผมก็ไม่รู้ท่านออกมาพูดอยู่ได้ยังไงนะ ผมเองผมพยายามทำอย่างเต็มที่ ระมัดระวัง พยายามไม่ให้มีผลกระทบกับใคร คนบางคนก็ต่อต้านผมอยู่คนเดียว คนเดิมๆ นะ ทำความเสียหายไม่รู้กี่ปีมาแล้วนะ ก็สังคมดูเอาแล้วกันว่าจะฟังคนอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ หรือจะฟังผมหรือจะไม่ฟังผมก็แล้วแต่ท่านเถอะครับ ยังไงผมก็ต้องทำอยู่ดีเพื่อประเทศของผม เราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนะครับอย่าหวาดระแวงกัน สร้างเงื่อนไข เราทอดทิ้งใครไม่ได้นะครับ ถึงแม้ว่าคนต่อต้านผม ผมก็ทิ้งเขาไม่ได้อีก แต่เขาอย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน วันหน้าเขาอาจจะเข้าใจผมก็ได้ คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่อย่าด่าผมมากนัก บางครั้งความอดทนผมก็จำกัดนะ กฎหมายมันก็มีอยู่
เราต้องมองเลยไปถึง 70 ล้านคนนะครับ อย่างที่บอกแล้ว ไม่ใช่มองในบ้านตัวเอง หมู่บ้าน ตำบล ตัวเองเท่านั้น มันมีอีกตั้งเยอะแยะ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน นะ 6พัน 7 พันตำบล ทำนองนี้ตัวเลขกลมๆ นะ มันเป็นขนาดนั้นนะ ไม่ใช่แค่บ้านท่านอย่างเดียว แล้วท่านบอกตรงนี้เดือดร้อน ที่อื่นเขาอาจจะมีเดือดร้อนเหมือนกัน แต่เดือดร้อนมากกว่า รัฐบาลต้องมองอย่างนี้ มองให้กว้าง มองให้ลึก แล้วแก้ปัญหาให้เป็นระบบ ไม่อย่างนั้นจะพันไปหมด ไอ้นี่ได้ ไอ้นี่ไม่ได้ แล้วจะทำยังไง วันหน้ามันก็พึ่งพาอาศัยกันไม่ได้ มันก็ดึงจูงกันไปทั้งประเทศนั่นแหละ วันนี้เราต้องมองเลยไปแล้วว่า ในบ้านตัวเอง มองไปถึง 70 ล้านของคนไทยทั้งหมดนะครับต้องไปด้วยกัน แล้วก็มองต่อไปสู่ 250 ล้านคนใน CLMV ซึ่งเป็นตลาดร่วมของเราความร่วมมือทั้งหมด มองไป 600 ล้านคนในอาเซียน แล้วก็มองไปใน 7,500 ล้านคนทั้งโลกไม่ได้มีคนแค่นี้นะ นี่ยังไม่รู้มีโลกอื่นด้วยหรือเปล่าเลย เค้าสำรวจอยู่ นะฉะนั้นทุกคนนั้น เป็นทั้งเพื่อนร่วมโลก ทั้งผู้ร่วมชะตา และก็เป็นลูกค้าของเรา ในเวลาเดียวกันด้วยนะ ทำยังไงเราจะแข่งขันกันน้อยลง ร่วมมือ สนับสนุน ช่วยกัน ไตรภาคี
ในด้านการผลิตนะครับ ถ้าหากว่าเราผลิตออกมา ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เราเน้นเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างเดียว มันก็จะทำให้เกิดการส่งออกที่มีปัญหา เช่นในอดีต เราต้องเน้นการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสร้างสินค้าตัวใหม่เพื่อให้ไปสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้โดยเร็วนะครับ ไม่อย่างนั้นราคาสินค้าที่ขายออกมันก็ตกลงไปทุกวัน เพราะมันเป็นสินค้าเก่า ออกแบบก็ต้องใหม่ๆ ต้องไปดูเรื่องสไตล์ต่างๆ มัสไคลิสต์เข้ามาประกอบด้วยในเรื่องของการลงทุน การออกแบบนะครับ ทุกเรื่องต้องออกแบบหมดแหละ มีสตอรี่ต่างๆ แล้วมันจะขายของได้เองหละนะ เราต้องลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันนะครับ ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนต่อประชาชนเอง ประชาชนต่อภาคธุรกิจ และทั้งหมดกับผม นะ กับรัฐบาล กับ คสช. เราจะได้เข้มแข็งไปด้วยกันนะครับ เปลี่ยนแนวความคิดต่อต้านอย่างเดียว มาเป็นความคิดที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมรับสถานการณ์ แล้วก็ทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ตัวเองก็จะดีขึ้นไปด้วย เราอาจจะ นะครับ ใช้คำว่าอาจจะ ขยายฐานภาษีได้ในอนาคต เมื่อเรามีรายได้ดีขึ้น นะ เราจะได้มีเงินมาพัฒนาประเทศ ให้มากยิ่งขึ้น หลายอย่างต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น เพราะมันติดกับอยู่นานหลายปี นะ หมดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องซะเยอะ เราต้องทำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก วันนี้เราอาจทำเรื่องภาษีไม่ได้มากนัก ก็เห็นว่าทำเป็นสัญลักษณ์บ้างอะไรบ้างออกไป เพราะประชาชนเดือดร้อน แต่ก็มีคนไปปลุกปั่นว่าเดี๋ยวจะโน่นนี่อะไรต่างๆ ก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับภาษีในเกณฑ์ของคนที่ไม่ได้เสียภาษีซักอย่าง แต่ทุกคนอยากได้เงินกันหมด แล้วผมจะเอาเงินจากไหนมาให้ท่านล่ะ เพราะมันขึ้นภาษีไม่ได้ รัฐก็ได้เงินจากภาษีทั้นแหละ มาทำงาน มาบริหาร เพียงแต่ว่า อย่าให้มันรั่วไหลก็แล้วกัน สำหรับตอนนี้ ผมก็พยายามเต็มที่นะ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ร่วมมือกัน ทำต่อไป นะครับ
ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ 5 ที่เรียกว่า เอสเคิร์ฟเดิม5 อย่างเนี่ย ถ้าเราไม่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มเติมไป ไม่ผลิตสินค้าตัวใหม่ มันก็จะมีปัญหาพันไปถึงเรื่อง ขายไม่ออก ไม่มีสินค้ารุ่นใหม่ ไม่มีแบบใหม่ๆ แข่งขันกับต่างประเทศเค้า แล้วก็อะไรล่ะ ไม่มีนวัตกรรม ทำนองนั้นน่ะ ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ เรามี 5 เอสเคิร์ฟเดิม กับ 5 นิวเอสเคิร์ฟใหม่ ที่มันทันต่อการเปลี่ยนแปลงของไทยแลนด์ 4.0 เนี่ย โลกกำลัง 4.0 เราอยู่ 3.0 เราต้องทำ 3.0 วันนี้ก็ที่ผมว่าเมื่อกี้ ให้เทคโนโลยีสูงขึ้น ใช้เครื่องจักเครื่องมือให้มากขึ้นเพราะวันหน้าเราอาจจะขาดแคลนแรงงานมากกว่านี้ก็ได้นะ ต้องคำนึงถึงแรงงานในประเทศด้วย วันนี้ใช้แรงงานเพื่อนบ้านซะเยอะนะ เพราะคนไทยไม่ชอบทำงานแบบนี้ คิดทั้งหมดนะครับ รัฐบาลต้องคิดแบบนี้ ถ้าเราไม่มองไม่เตรียมคนไม่ศึกษาให้การศึกษาแล้วจบมาไม่ตรงตามความต้องการของประเทศ มันก็จะไปทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด แล้วจะเรียนมาทำไม เสียเวลาเปล่านะ แข่งขันกับใครก็ไม่ได้ ทำงานไม่เป็น
ฉะนั้นหากเราใช้งบประมาณแบบเดิมจำนวนมาก ไปส่งเสริมสิ่งที่ล้าหลัง ให้พออยู่ได้ ไม่ล้มไม่อะไรต่างๆ แต่มัน ขายไม่ออกไง แล้วมันก็เท่ากับอุดรูรั่วที่มันไม่มีวันที่จะอุดได้สำเร็จอ้ะนะ เพราะฉะนั้นเราต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไปส่งเสริมการพัฒนา ไม่ต้องการให้มันล้มไปทั้งหมด เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน เปลี่ยนให้ทันสมัย ไปทีละส่วนๆ เดี๋ยวคราวหน้ามันก็ทันสมัยใหม่ทั้งโรงงาน ถ้าของเดิมมันกำลังจะทรุด แล้วก็จะไปทับแบบเดิมอีก ไม่มีแผนงานในการปรับปรุงพัฒนามันก็จะล้มไปเหมือนเดิม แล้วก็ใช้เงินเสียหายเยอะแยะ รัฐบาลก็ต้องให้เงินกู้ไป บางอย่างก็ต้องเป็นเอ็นพีแอล แล้วผมถามว่ายังไงอ้ะ ให้ก็เสียหายกับประเทศ ไม่ให้ก็หาว่าใจดำ วันนี้ทุกคนกลัวเอ็นพีแอล แต่เวลา วันนั้นไม่เห็นพูดเลยว่าการกู้เนี่ยหรือให้เงินไปแล้วเนี่ย ไม่ดีเพราะว่าจะมีปัญหา ก็คนที่จะมากู้ก็ต้องดูตัวเองนะครับ ว่าไปเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือเปล่า มีรถยนต์เพื่อใช้งาน มีบ้านที่พอเพียง บางคนเป็นหนี้ครัวเรือนโดยที่หมดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง โทรศัพท์นะ เที่ยวเล่น ดื่มสุรา ติดสุรา ทำนองเนี้ย มันก็มีหนี้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้บัตรเครดิต นะ มันเป็นธุรกิจ มันเป็นเสรีในการที่จะค้าขายในเรื่องเหล่านี้นะครับ ท่านก็ต้องมีภูมิคุ้มกันของท่าน รสนิยมสูง รายได้ต่ำมันไปไม่ได้หรอก เอารสนิยมพอสมควร มีภูมิคุ้มกันที่ดีก็แล้วกัน ถ้าเราร่วมมือไปกับรัฐบาลนะครับ นำสิ่งที่รัฐบาลคิด ที่รัฐบาลกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เอาไปคิดไว้ล่วงหน้า ตามเราไปด้วยนะ เพื่อจะวางแผนทางธุรกิจของตนเอง ของครอบครัว เหล่าเนี้ยนะ ถ้าหารือกันด้วยความเข้าใจ สงสัยก็ถามพูดภาษาเดียวกัน ไม่ใช่พออ้าปากพูดก็ค้านกันแล้ว แล้วมันยังไม่รู้เลยว่าเค้าจะทำอะไร ค้านตั้งแต่ต้น อะไรที่คิดว่าตัวเองเสียเนี่ยไม่ได้เลย ก็ดูสิว่ามันเสียแล้วมันจะได้อะไรต่อมา ไม่มีอะไรที่มันจะได้มาตั้งแต่ต้นโดยไม่เสียอะไรเลยไม่มีในโลกใบนี้ มีที่ไหน อย่าคิดอยู่ที่เดิม นับวันถ้าเราทำแบบเดิมๆก็จะขายใครไม่ได้อีกนะ ต้องรีบสร้างมาตรฐาน สร้างสิ่งใหม่ๆ ไปแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ อย่าไปฟังเสียงนกเสียงกา พูดทุกวันเนี่ย ฟังผมนี่ แล้วจะรู้ว่ามันจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดในวันที่ผมอยู่เนี่ย เกิดวันหน้ารัฐบาลเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น แล้วพยายามจะไม่ให้มันเกิดวันนี้ แล้ววันหน้าท่านจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศ เท่ากับเหมือนเดิมนั่นแหละ ทำเหมือนเดิมก็ได้เหมือนเดิม ลำบากเท่าเก่า มากกว่าเดิมอีก เพราะโลกเขาพัฒนาไปแล้วไง
ฉะนั้นเราต้องเร่งในการเอาผลวิจัย มาพัฒนา มาขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว สู่การผลิต สร้างแบรนด์ใหม่ สินค้าตัวใหม่ จะทำให้เราอยู่รอดได้ เราต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะทำอย่างไร ภาคการผลิตขั้นต้น ซึ่งเป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็นคนผลิตออกมา เช่น ปลูกข้าวเนี่ย ถ้าเราพัฒนาไปสู่นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าแล้ว เขาจะได้อะไรกลับมา มากกว่าเดิมมั้ย ไม่ใช่เขาได้เท่าเดิม ไอ้ตรงกลางเนี่ยได้มากขึ้น มันต้องดูแลเขาด้วยสิ การวิจัยและพัฒนาก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนนักวิจัยเค้า มาตรการ แรงจูงใจ อะไรเหล่านี้ มันทำใหม่ทั้งหมดแหละนะครับ ตอนนี้รัฐบาลทำทั้งหมด วันหน้าจะเล่าให้ฟังอีกที เรื่องวิจัยพัฒนา กองทุนวิจัยพัฒนา กองทุนการศึกษา ในประเทศ ต่างประเทศ รื้อทุกระบบ บางทีก็ไม่ได้เล่า หลายคนก็บอกไม่ได้ทำอะไร ไอ้ทำแบบนี้มันยากกว่าที่มันทำง่ายๆเยอะแยะไป ที่ทำมาก่อน ง่ายๆ ได้หน้าได้ตา ผมไม่อยากได้หน้ามากกว่านี้อีกแล้ว พอแล้ว
ในเรื่องของการสร้างชาติ ต้องคิดว่าเราเริ่มจาก”การสร้างคน” นะครับเราเริ่มจากการสร้างคนที่ไม่พร้อม ไม่ได้ ชาติ กับ คน ต้องแข็งแรงไปด้วยกัน และแผ่นดินเราถึงจะแข็งแรง เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง การศึกษาเป็นปัจจัยหลัก ที่สำคัญที่สุด 2 ปีที่ผ่านมานั้นแก้ทุกเรื่อง ปัญหาการศึกษา มีการทำงานที่ผิดเพี้ยน ไม่สอดคล้อง ไม่บูรณาการไม่เกื้อกูล ภายในระบบการศึกษา ก็ผมไม่ว่าใครบกพร่อง อยากให้ทุกคนปรับตัว และฟังในสิ่งที่ผมสำรวจมาแล้วเนี่ย มันบกพร่องอะไรบ้าง เช่น ผู้เรียนขาดทักษะในการทำงาน ผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการภาคการผลิตของประเทศ ไม่รองรับโลกในตวรรษที่ 21 ไทยแลนต์ 4.0 เนี่ยนะ ไม่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ไม่เสริมสร้างนวัตกรรม หรือค่านิยมที่มุ่งเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ แล้วไม่มีงานทำ ทำให้เกิดการเสียสมดุลด้านแรงงาน, ขาดแรงขับเคลื่อนประเทศ เหล่านี้ เป็นต้น
ที่ผ่านมานั้น หลายสิบปีมาแล้ว การพัฒนาคน ทำได้ช้า ปัจจุบัน รัฐบาลนี้เดินหน้า “ปฏิรูปการศึกษา” ใน 3 มิติ คือ (1) โครงสร้างหน่วยงานและงบประมาณ (2) การบริหารทรัพยากรบุคคล แก้ปัญหาครูเกิน-ครูขาดอัตรา ครูสอนไม่ตรงสาขา และทำแผนการผลิตครู 10 ปีล่วงหน้า การพัฒนาโรงเรียน โรงเรียนขนาดเล็กจะทำอย่างไร โรงเรียนที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน มีครู 5 คน มีเด็ก 15 คน มีผู้อำนวยการโรงเรียน จะทำยังไง ก็ต้องให้จบไปก่อน แล้ว ใหม่ก็พอแล้ว หลายคนก็บอก จะไปยุบหมด ทำไม่ได้ เด็กก็เกิดปัญหาหมด ย้ายคนไปเรียนที่โน้นที่นี่มันไม่ง่าย พ่อแม่ก็เป็นห่วงกังวล เพราะฉะนั้นวางระบบให้ได้ภายใน 6 ปี นะ ก็ควรจะจบได้แล้ว โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคนเรียน คนเรียนน้อย มาก เป็นภาระ งบประมาณสูงมาก นะครับ แต่ที่ผ่านมาท่านก็ทำได้ดีอยู่แล้วนะ เพียงแต่มันไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ในเรื่องที่(3) คือเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต – ดาวเทียมเพื่อการศึกษา ต้องปรับปรุงทั้งหมดนะครับให้เข้าถึงทุกโรงเรียน ทั่วประเทศ แม้จะอยู่ห่างไกล ภายในปี 2559 นี้ ทั้งนี้เพื่อจะให้การศึกษาของไทย มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล มันเป็นการเริ่มต้น เพราะมันหยุดอยู่กับที่มานานแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะเริ่มต้นให้เร็ว มันอยู่ที่เราทุกคน ทั้งครู ผู้ปกครอง เด็กนักเรียน รัฐบาล ข้าราชการ ต้องร่วมมือกัน วันนี้กระทรวงศึกษาธิการนะครับ หลายคนก็หาว่าไม่ได้ทำอะไร เขาทำไปหลายอย่างนะครับ มันถึงต้องมารวบขึ้นมาทำ แล้วก็สั่งแก้ไปก่อน แล้ววันหน้าก็กลับที่เก่า ก็คือมีการบริหารราชการปรกติอยู่แล้วนะครับ เราต้องมาดูหลายๆเรื่องด้วยกัน ถ้าเราไม่ใช่คำสั่งมาตรา 44 ในการแก้ปัญหา วันนี้ก็แก้ไม่ได้หรอกครับ มันหลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไปสั่งโน่น นี่ นั่นได้อย่างเดียว มันต้องฟังเขาสิ เรียกเขามาแล้วก็ฟัง ที่ผ่านมาไม่ต้องฟังใครนี่ ต่างคนต่างทำ แล้วก็ใช้แนวทาง “ประชารัฐ” เอาภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ทั้งในระบบ และ นอกระบบ ทั้งระดับอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา อาชีวะ กศน. การศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นะครับการอ่านหนังสือสำคัญที่สุด อ่านให้ออกนะ ไม่ใช่เรียนจบประถมยังอ่านหนังสือไม่ออก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อย่างนี้จะเรียนมาทำไม นะ สร้างคนที่มีคุณภาพ และก็มีคุณธรรมด้วย รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีจิตสำนึกดี เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ที่มันเกี่ยวข้อง กับการศึกษาทั้งหมด อีกประการหนึ่ง ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน ผมถามว่า เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยดีพอเพียงใด
ฉะนั้นต้องไปสอนหลักประชาธิปไตยพื้นฐานที่ถูกต้อง ที่มันควรจะเป็น ในห้องเรียน ด้วยนะครับ เช่น การทำงานเป็นทีม การคิดร่วมกันทำไปด้วยกัน ใครมีข้อขัดแย้งเห็นต่างการให้เกียรติและรับฟังความเห็นต่าง ก็มาหาข้อสรุปกันให้ได้ ไม่ใช่ สอนให้ทะเลาะเบาะแว้งไปหมด คิดนอกรอบอย่างเดียว มันก็ไปไม่ได้หมด สังคมก็แตกแยกอยู่แบบนี้ มีคนมาปลุกปั่นนิดหน่อยก็ไปหมด อ้างว่าจะต้องอะไรล่ะ เป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคล ก็สิทธิส่วนบุคคลให้คนเหลือเยอะๆ คนจำนวนมาก เขาต้องการ ไม่ต้องการอยู่ 2 คน แล้วจะฟังใคร นั้นแหละประชาธิปไตย มันง่ายๆ แต่นี้ ขณะเดียวกันก็ต้องเอาอีก 2 คนมาแก้ให้เขาด้วย ให้เขายอมรับให้ได้ ไปกับ 10 คนที่ว่า มันก็ไปทั้ง 12 คน วันนี้พอรวมกัน 12 คน มันแตกกันทั้ง 12 คน แล้วจะคุยกันรู้เรื่องไหม คือความจำเป็นในการใช้อำนาจของผมในเวลานี้เท่านั้นเองให้เกียรติ รับฟังความคิดเห็น แต่อย่าผิดกฎหมาย อย่าสร้างแนวคิดที่เป็น “ปฏิปักษ์” ต่อกัน อยู่ร่วมกันในสังคมแล้ว ถ้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ปิดใจ ปิดหู ปิดตา ไม่เคารพความเห็นคนอื่น ไม่ได้หรอกครับ
วันนี้หาว่าผมปิดหูปิดตา ผมเปิดทุกตาผม เปิดจนตากว้างแย่อยู่แล้ว หูก็ใหญ่ขึ้น ปากก็กว้างขึ้น เพราะทั้งพูด ทั้งฟัง ทั้งคิด หัวโตขึ้นเยอะแล้ว ต้องคิดทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มองแบบนี้ มันก็มองโลกแคบ สังคมก็แคบมันก็ไม่ทันการ คนอื่นเขา เราจะดูแลประชาชนได้อย่างไรล่ะ ถ้าไม่รู้ทุกข์สุขประชาชนทุกคน นะ ก็ฟังทุกคนนั่นแหละครับ แต่ผมรับไม่ได้ตรงที่ไปพูดจาเสียหาย หรือไปฝ่าฝืนกฎหมาย แค่นั้นเอง มองความสงบสันติส่วนรวมให้ได้นะครับ มองความก้าวหน้า มองการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ชิดซ้าย หรือขวา ไปจนสุดโต่ง มันต้องหาความพอดีกันให้ได้ แล้วจะทำให้ประชาชนดีขึ้นได้อย่างไร จากปัญหาที่ผ่านมา ใน 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำสิ่งใหม่ๆ หลายอย่างด้วยกัน หากติดตามดู แล้วก็ฟัง แล้วก็คิดตามนะครับ บางคนก็ไม่ค่อยได้ตามเท่าไหร่ก็เลยไม่ค่อยรู้ ไม่เป็นไร ผมก็จะพยายามพูดให้มากขึ้น คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความขัดแย้งซะมากกว่า อะไรที่ทำดีดีถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเอง ก็ไม่ฟัง นั่นแหละคือความยากง่าย นั่นคือการทำงาน ฉะนั้นทุกคนต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไรก็แล้วแต่ พยายามต้องปรับปรุงตัวเอง ว่าต้องรู้ทุกเรื่อง แล้วเอาสิ่งที่เรารู้ทุกเรื่องมาคิดร่วมกัน มันถึงจะไปได้ ถ้าไม่รู้ทุกเรื่อง แต่ไปแสดงความคิดเห็น ในเรื่องที่ไม่รู้เลย มันก็ทะเลาะกันอยู่แบบนี้ เราจะใช้ความรู้สึกทำงานไม่ได้ เอาปัญหาทางการเมืองมาขัดแย้งกันอีก มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เราต้องกลับมาดูตัวเองนะครับ กลับมาดูบ้านเมือง ประเทศชาติของเรา ชุมชนท้องถิ่น บ้านเราจะเดินหน้าไปยังไง จะอยู่เดิมๆ หรือเปล่า จะติดกับดักตัวเองหรือไม่ รายได้เท่านี้เพียงพอไหม ต้องไปดูนะครับ ผมถึงบอกว่าเกษตร อุตสาหกรรม แล้วก็อื่นๆ มันต้องไปด้วยกันหมด ทุกพื้นที่มันถึงจะแข็งแรง เป็นพื้นที่ เป็นภูมิภาค เป็นกลุ่มจังหวัด แล้วก็เป็นจังหวัด ตำบล อำเภอ หมู่บ้าน รัฐบาลนี้ทำแบบนี้ ไม่ได้ทำตามคะแนนเสียงของใคร ของใคร ผมไม่ทำแบบนั้น ก็หลายคนก็ไม่ชอบแหละ แต่วันหน้ามันจะดีขึ้น ลองตามดูแล้วกัน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการต่างประเทศ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ก็อยู่ใน ประชารัฐทั้งหมดนั่นแหละ ต้องมาร่วมมือกัน นะครับ
เรื่องสำคัญการจัดงาน OTOP “ประชารัฐ” ตามนโยบายรัฐบาลในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ครั้งที่ 5 ณ อิมแพคเมืองทองธานี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีการตอบรับจากพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง มีคนเข้ามาชมงาน กว่า 4.4 แสนคน มีผู้ประกอบการนำเข้าสินค้า OTOP มาขายในงาน “OTOP ประชารัฐ” ร่วมจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานกว่า 2,500 ร้าน มียอดจำหน่าย ราว840 ล้านบาท ทะลุเป้านะครับที่วางไว้เดิม สูงกว่ามาก เป็นยอดขายภายในงาน กว่า 770ล้านบาท และยอดสั่งซื้อ หมายความว่าสั่งแล้วได้ของทีหลัง เกือบ 67 ล้านบาทเห็นไหมครับ ถ้าเราผลักดันถ้าเราขับเคลื่อนดีๆประชาสัมพันธ์ดีๆคนก็สนใจมาถึงเขาก็เห็นความแตกต่าง เฟต1 เฟต2 เฟต3 วันนี้เฟต1 ก็ไปอยู่ที่บ้าน เฟต2 ก็เริ่มเอามาพัฒนา เฟต3ก็ขึ้นเครื่องบินไปขายต่างประเทศ จดทะเบียนลิขสิทธิ์ให้ดี ต้องทำแบบนี้ตอนผมเขามาไม่มีอะไรเลย ผลิตอย่างเดียว ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ขายให้ใคร มาตรฐานก็ไม่ค่อยได้ ก็ขายกันไปกันมาอยู่แค่นี้ มันก็เพิ่มมูลค่าขึ้นไม่ได้แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไรผมก็ไม่รู้ คิดหน่ะดี แต่ทำไม่ต่อ ไม่ครบ เราต้องทำให้เกิดเชื่อมโยงธุรกิจต่อเนื่องให้ได้ให้ครบวงจร ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ไปสู่การตลาดให้ได้ ยกระดับสินค้า OTOP ประชารัฐ ไปสู่ OTOP ติดดาว OTOP แห่งอนาคต OTOP Premiumและ OTOP Go Inter เห็นไหมว่ามากกว่า OTOP เดิมตั้งเยอะ มีตั้งหลายอย่างหลายประเภทแยกให้ออก ทำให้ได้ ปัจจุบันเราได้จัดทำเป็นแคตตาล็อก มีภาพให้เห็น เน้นความทันสมัย เลือกดูเลือกซื้อง่าย ติดต่อร้านทำก็ได้อะไรทำนองนี้ ผลิตภัณฑ์ก็ปรับรูปแบบ ให้ “พร้อมขาย พร้อมเสิร์ฟ” ขนาดเล็ก บรรจุภัณฑ์น่าสนใจ มี Story มีเรื่องราว คัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน วางขายทั้งในสนามบินและบนเครื่องบิน ขณะนี้ก็มี 2 – 3 สายการบินที่มีการตอบรับแล้ว การบินไทย สายการบินแอร์ เอเชีย ในการตรวจคุณภาพสินค้าเราต้องทำอย่างแท้จริง ทำระบบการซื้อขาย จ่ายเงิน ส่งของ และทำการสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต Online นะครับ และมีการจัดส่งถึงบ้าน ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน การบินไทย และการท่าอากาศยานไทย ที่ร่วมมือ ผลักดันสินค้า “OTOP ประชารัฐ” ไม่ปล่อยให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการ เงียบเหงา ไร้อนาคต ขายของซังกะตายไปเรื่อยๆ เหมือนในอดีต แนวทางประชารัฐนี้ จะช่วย “ผ่าทางตัน” ให้สินค้าจากชุมชนของเรา โดยข้าราชการ หน่วยงาน ต้องเข้ามาขับเคลื่อน แสดงความร่วมมือ เชื่อมโยงชุมชนกับเอกชนให้ได้ ขอบคุณทุกกระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ มีอีกอย่างน้อย 2 สายการบินที่ให้ความสนใจ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว
ล่าสุด ผมได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาหมุนเวียนนำสินค้า OTOP ประชารัฐ ที่มีอยู่เกือบ 8 หมื่นรายการ จากชุมชนต่างๆ ก็ต้องเอามาหมุนเวียนจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กว่า 4 หมื่นราย ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มาจัดแสดงและจำหน่ายใน “ตลาดคลองผดุงฯ” ข้างทำเนียบฯ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางธุรกิจด้วย ต่อเนื่องไปก็อย่าซ้ำกันมา เพราะฉะนั้นก็ต้องคัดเกรดมานะครับ 1 ก็คงยังมาไม่ได้ 2 ที่กำลังจะไป 3 อาจจะมาได้บ้าง ส่วน 3 มาได้เลย มันจะได้เพิ่มการพัฒนาตัวเอง สร้างแรงจูงใจให้ถึงกันด้วย รัฐก็ต้องดูทั้งหมดอยู่แล้ว ไปดูการออกแบบการใช้วัสดุ ลวดลายต่างๆ มีทั้งอัตลักษณ์ มีทั้งโมเดิร์น มีทั้งการประยุกต์ต่างๆมันต้องอยู่ในสินค้าทุกอันบางอย่างมันใช้หมดไม่ได้ อย่างเดียวกันมันก็น่าเบื่อ คนต่างประเทศบางอย่างเขาก็ใช้ไม่ได้สังคมมันคนละแบบ ไม่ใช้เอาลายคล้อยไปขายให้เขา ก็เอาไปตั้งกองที่บ้านได้แต่เขาถือไปไหนไม่ได้ เอาไว้โชว์คนได้ ทำไม่เราไม่ทำไว้โชว์ได้ด้วย บางอันทำไว้ใช้ได้ด้วย ไว้แจกเพื่อนแจกฝูง ของดีทั้งนั้น ฝีมือเรามันวิริศสมาหราอยู่แล้วประเทศไทย เกือบ 2 ปีแล้ว คือ มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่การค้าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยได้นำสินค้ามาถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เป็นลู่ทางการต่อยอดทางธุรกิจ มีการ Matching มีการให้คำปรึกษา มีการให้ทำในรูปแบบการค้าส่ง หรือมีการส่งออกไปต่างประเทศ หน่วยงานในภาครัฐจะลงไปอยู่ตรงนั้นด้วย ไปให้คำปรึกษาในตลาดที่ว่านี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการ ให้ส่วนราชการและประชาชน ภาคธุรกิจและชุมชน มาขับเคลื่อน “ตลาดประชารัฐ” ไปด้วยกัน ก็อยากให้ไปทำในรูปแบบตลาดชุมชนบ้าง ตลาดสี่มุมเมืองบ้าง เหล่านี้ ต้องไปช่วยกันทำนะครับ อย่าเพิ่งไปลงทุนสถานที่เลย ไปหาที่เหมาะทำ ตั้งร้านมาเอาของดีๆมาขายก่อน บางครั้งให้ทำอะไรก็ตามใช้งบประมาณสูง สร้างสถานที่ก่อนแหล่ะ สร้างซะโก๋เชียว เจ้าหน้าที่อย่างดี ติดแอร์ แล้วก็ขาดทุน เจ๊ง พูดง่ายๆ เพราะว่าไม่มีภูมิคุ้มกันไง เช่าที่แรกๆต้องลำบากหน่อย ให้คนเขามาขายของ เขาก็ต้องลำบากเขาก็ต้องร้อนเหมือนกัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สบาย สบายก็อยู่ในห้องแอร์ไม่ออกไปดูข้างนอก ต้องเริ่มต้นอย่างนี้ก่อนทุกจังหวัดนะครับ
เดือนสิงหาคมนี้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบดำเนินการตลาดคลองผดุง ที่ใช้ชื่อว่า“รวมใจภักดิ์ รักแม่เที่ยงแท้ยุติธรรม” เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มียอดผู้เข้าชมงานเกือบ 6 หมื่นคน มียอดจำหน่ายสินค้า ของนักโทษ เห็นใจเขานะผลิตออกมาจากกรมราชทัณฑ์ ของเด็กและเยาวชนจากศูนย์ฝึกอบรมและสถานพินิจฯ และของผู้ติดยาเสพติดจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เป็นต้น รวมสินค้าประมาณขายได้ 13 ล้านบาท ก็ถือว่าสูงในตลาดเดือนนี้
เรื่องการขายทอดตลาดซึ่งมาอาศัยพื้นที่นี้ด้วย เป็นทรัพย์ของกรมบังคับคดีและสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เงินมากว่า 120 ล้านบาท ที่ผ่านมาก็ไปกองๆอยู่อย่างนั้นไม่ได้ทำอะไร วันนี้ก็เอามาเร่งดำเนินการให้หมด เรียกว่าหมดภาระที่ฝากที่เก็บ เป็นเงินหลวงทั้งนั้นไม่เป็นเงินส่วนตัว ก็รัฐบาลราชการต้องช่วยๆกันลดภาระลงให้หมด มีการให้บริการและให้คำปรึกษาทางกฎหมายด้วย เกือบ 2,500 ราย ที่สำคัญคือการไกล่เกลี่ยขอพิพาทชั้นบังคับคดี กว่า 500 ราย สำเร็จร้อยละ 93 คิดเป็นทุนทรัพย์กว่า 140 ล้านบาท เป็นการทำให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ด้วยกองยุติธรรมบาง คำแนะนำบาง มันก็แก้ได้หมด
ผมขอชื่นชมผลดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นที่พึ่งของทุกคน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่มักถูกเอาเปรียบ ถูกกินแรง ถูกเอาประโยชน์ไปมากกว่าที่ได้คนอื่นเอาไป ก็อยากจะบอกให้พี่น้องประชาชนที่ยังมีปัญหา สามารถไปขอรับคำปรึกษาและใช้บริการได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด ไปที่ศาลากลางทุกจังหวัดไปได้ทุกที่ ศูนย์ดำรงธรรมก็ได้ ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ของรัฐบาล ที่ใกล้บ้านท่าน กรุณาดูด้วยนะครับ ตัวหนังสือตัววิ่งในโซเชียลต่างๆ เขาแจ้งหมดแต่ท่านไม่เปิดมันก็จะไม่รู้ ถ้าไม่ฟังใครพูดมันก็ไม่รู้เรื่องอีก ท่านทำงานอย่างเดียวหาเงินอย่างเดียวจะได้ไม่ต้องเดินทางมาที่ส่วนกลางให้เสียเงินและเสียเวลา และหงุดหงิดเปล่าๆ เสียเวลา ท่านจะได้รับบริการที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดทั้งประเทศ ผมหวังว่าตลาดคลองผดุงกรุงเกษมนี้ จะเป็นต้นแบบ “ตลาดยุคใหม่” ตลาดประชารัฐ ในการคืนความสุขให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง วันนี้เรือกก็ได้ทดลองวิ่งไปแล้ววันหน้าที่สวยงาม ปลอดภัย วันนี้ก็วิ่งไปตามสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ น้ำมาก น้ำน้อย หยุดบ้างวิ่งบ้างแต่ต้องปลอดภัยในการทดลองวิ่งไปก่อน
ผมมีเรื่องสำคัญที่จะทำความเข้าใจอีกครั้ง อย่ากลัวว่ารัฐบาล คสช. สนช. หรือที่เกี่ยวข้อง 5 สาย จะไปเช็คบิลอะไรกับใคร พรรคไหน นักการเมืองใคร ไม่ใช่นะครับ ผมไม่ต้องการไปสลายใคร สืบทอดอำนาจจากใครทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นเรื่องของการนำสิ่งที่เป็นปัญหา ที่ยังคงค้างคาอยู่และไม่ได้ทำเข้ามาสู่การพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมเขาว่ายังไงก็ต้องว่าตามนั้น “ทุกฝ่าย” มีโอกาสชี้แจ้งอย่าบิดเบือน หลักฐานหามาที่มันเป็นจริง อย่าเอาหลักฐานปลอมหรือที่คนพูดเข้าข้างตัวเองมาหลักฐานมันฟ้องอยู่แล้ว ผมไม่เคยไปเติมอะไรให้สักอย่างล้วนแต่เป็นของเดิมที่ทำไว้ทั้งนั้น ทุกเรื่องก็จะเป็นที่สงสัย ก็มักจะเอามาวิพากษ์วิจารณ์กัน โดยไม่มีข้อยุติ ก็ร้อนอยู่อย่างนี้แล้วจะมาให้ผมปรองดอง จะให้ผมไปปรองดองกับใคร ในเมื่อท่านยังไม่ปรองดองกันเองเลย อย่าลืมว่ามีบุคคล 2 ฝ่ายเสมอ ทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันชี้แจง สร้างความปรองดองกันเองก่อน แล้วผมจะมาดูว่ากฎหมายว่าไว้อย่างไร ทำได้หรือเปล่า ถ้าทุกคนมาให้ผมแก้ให้หมด แก้ให้ได้ แก้ให้เร็ว ยังไม่ปรองดองกันเลยแล้วจะปรองดองกันได้ไง ก็ไอ้คนที่มีปัญหายังไม่ปรองดองกันเลย กฎหมายก็ไม่ยอมรับแล้วมันจะไปยังไง ให้โอกาสเขาผมยังให้โอกาสเขาเสมอ ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาตามข้อเท็จจริง ตามกระบวนการ ไม่มีการแทรกแซง มีแต่สนับสนุนให้เกิดความอิสระและโปร่งใส ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะ อัยการ ศาล ตำรวจ มีวิจารณญาณที่เพียงพอกันอยู่แล้ว ท่านต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้ ไม่ 2 มาตรฐาน ไม่อะไรก็แล้วแต่ หลักฐานพยานอะไรก็ว่าไปตามนั้น
กรณีรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ฟัง คิด ใช้สติปัญญา อย่าไปฟังตามการชี้นำของใคร เชื่อตัวเองก่อน ฟังให้เข้าใจ อ่านให้รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องให้ไปถามคนที่เขารู้เรื่อง อย่าไปถามคนที่ไม่รู้เรื่อง มันจะทำให้ไม่รู้เรื่องไปมากกว่าเดิม กลายเป็น 2 คนไม่รู้เรื่องไปทั้งคู่ เพราะฉะนั้นมันฝืนธรรมชาติ ฝืนความจริงไปได้ เขาคงไม่ทำอะไรอย่างที่ทุกคนเป็นห่วงกังวลหรอก คำถามพ่วงก็คือคำถามพ่วง รัฐธรรมนูญคือรัฐธรรมนูญ อันนี้มันจะเดินหน้าไปอย่างไรเดียว กรธ.เขาไปทำเอง อย่าไปยุ่งเขามากนักเลย ไม่ว่าจะการเสนอชื่อจากไหน เสนอชื่อจากใคร ไปฟังเขาสรุปมาก่อน ต่อต้านกันตอนแรกมันต่อต้านเพราะอะไร กลัวอะไรกันหรอ หรือตัวเองไม่พร้อม หรือตัวเองกลัวจะไม่ได้เข้ามา ผมไม่รู้นะ ถ้าท่านดีจริงท่านเข้ามาได้หมด เสนอชื่อเข้ามาคนเขาก็ต้องเลือก สว.เขาจะไปค้านกันหรอคนดี ท่านก็มองเอาแต่ 2 ฝ่ายเสมอ ผมไม่เคยมองแบบนั้นเลย ให้โอกาสทุกพรรค ทุกนักการเมือง เว้นผู้ที่ติดข้อกฎหมายเท่านั้นเอง ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญเขาก็ทำหน้าที่ของเขา กรธ.ออกมาเสร็จแล้วประเด็นคำถามพ่วง รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกทั้งหมดมันก็จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ที่สปก. ภูเก็ต ภูทับเบิก หลายๆที่ดูจากกฎหมายก่อนนะ เริ่มจากตรงนั้นผิดหรือเปล่า ถ้าผิดแล้วทำอย่างไรต่อ ผมไม่ได้มุ่งหวังไปทำลายทำร้ายใคร ก็เวลาท่านสร้างท่านไม่รู้หรือว่ามันถูกหรือมันผิด กฎหมายก็บอกอยู่แล้วว่ามันผิดแต่ท่านก็ไปลงทุนเยอะ ก็ถ้ายอมรับอย่างนี้แล้วจะให้รัฐบาลมาดูซิว่าจะช่วยได้อย่างไร อย่ามาอ้างกันไปเรื่อยเปื่อย ทุกอย่างจะต้องมีหลักฐาน ถ้าทุกคนอ้างได้ทำอย่างนี้ก็ไม่ต้องอยู่กันแล้ว ผมก็ไปอ้างอยู่อย่างนู้นอย่างนี้ได้หมด ทำประโยชน์ได้หมดทุกที่เพราะผมอ้างยังไง ผมอ้างไม่ได้ให้ใช้กฎหมายอย่าใช้กฎหมู่ หรือบังคับรัฐบาลทุกเรื่องให้ทำโน่น ทำนี่ ละเว้นนี้ โน้น มันทำไม่ได้ทั้งหมด กฎหมายเขาเขียนไว้ว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายและจะใช้คำว่า ไม่รู้กฎหมายไม่ได้ จำไว้ เขาพูดมาตั้งนานแล้ว ประเทศไทยทุกประเทศเขาก็เป็นแบบนี้หมด เว้นแต่เราไม่อยากเป็นประเทศก็ตามใจ เราใช้ความพยายาม ในการบังคับใช้กฎหมาย และแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์หาทางออกที่ดีที่สุด ไม่อยากจะให้เดือดร้อน ให้เห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐบาล และ คสช. บ้าง ผมคงไม่อยากให้ใครมาเกลียดผมมากนักหรอกแต่ถ้าเราไม่ทำมันก็จะวนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้
สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็จะมีการรายงานให้ทราบเป็นเป็นระยะๆ ตามหลักฐานเชื่อมโยงอยู่หลายอย่าง หลายกลุ่ม อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็แล้วแต่ ส่วนกระบวนการสืบสวนสอบสวน อย่าเพิ่งไปวิเคราะห์วิจารณ์กันเอง สื่อฯ ก็อย่าได้ขยายความ สรุปกันเองวิเคราะห์กันเอง ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ทำอะไรไม่ได้ ออกนอกกรอบที่เขาคิดกันทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงก็ไม่กล้าอีก นี้แหละคือปัญหาของประเทศไทย ให้คนที่เขามีหน้าที่ทำ ให้คนที่มีหน้าที่พูดเขาให้ข่าวก็จบแล้ว ในวันนี้ทุกคนออกมาพูดกันหมด มันก็คือปัญหาของประเทศไทย ประเทศอื่นเขาไม่มีแบบนี้หรอก ผมว่านะ
การวิพากษ์วิจารณ์เลิกได้แล้วเรื่องราวของภาคใต้ทุกวันนี้มันก็แรงอยู่ มันแรงอยู่แล้วหล่ะ ก็ค่อยๆลดไปเรื่อยๆซิ อย่าลากโยงไปโยงมาว่าไอ้นี้มันเกี่ยวกับไอ้นี้ไอ้นั้นมันเกี่ยวกับไอ้นั้น มันอยู่ที่หลักฐาน เกี่ยวก็คือเกี่ยวไม่เกี่ยวก็คือไม่เกี่ยว สอบสวนกันต่อไป เราต้องสนใจในเรื่องสำคัญก็คือ เรา ตัวเราเอง ประชาชน เจ้าหน้าที่จะร่วมมือกันอย่างไร ในการเฝ้าระวังในการป้องกันในการแก้ไข ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุแก้ไขดีกว่า ดีกว่าที่จะแก้ไขตอนที่มันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องการความปลอดภัยของบ้านเมือง ต้องการความสงบ สันติ มีเสถียรภาพ วันนี้ทุกคนต้องการทุกอย่างเลยแต่ไม่ต้องการเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องการกฎหมาย ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ แล้วมันจะปลอดภัยได้ไหม คิดเอาซิครับ คิดเอา
มีหลายเรื่องนะครับที่น่ายินดี ยินดีกับ “พ่อเมือง” ชาวสุโขทัย ก็มีหลายผู้ว่าฯที่ทำงานดีมาทุกคนนั้นแหละ นายปิติ แก้วสลับสี ที่ผมยกขึ้นมาเพราะว่าปัญหาที่ผมเป็นห่วงก็คือเรื่องน้ำ ซึ่งท่วมทุกปี ท่วมเป็นเวลานาน ท่านผู้ว่าการฯท่านนี้ท่านใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ด้วย ศึกษาจากเมืองของตน รวมทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำยม และมีทักษะผู้นำที่ดี สามารถนำทีมส่วนราชการในจังหวัดบูรณาการ สานความร่วมมือ “ประชารัฐ” แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ครบวงจร เป็นผลที่น่าพอใจ รัฐบาลก็เบาแรงลงไปเยอะ หลายจังหวัดก็ทำแต่ผมยังไม่ได้กล่าวในตอนนี้ เพราะที่เป็นห่วงก็คือหลักๆจังหวัดที่ท่วมแล้วท่วมอีกซ้ำซากอยู่อย่างนี้ หรือแล้งซ้ำซากมันก็ต้องมีการพร่องน้ำระบายน้ำกักเก็บไว้ใช้วันหน้า ไม่ใช่ทิ้งหมด แล้ววันหน้ามาบอกว่าน้ำแล้ง มันก็เดือดร้อนอยู่อย่างนี้ เขาเรียกว่า ไม่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ ทุกเรื่องมันต้องมีวิสัยทัศน์ทำให้ครบระบบ อย่าทิ้งทั้งหมด หรือเก็บทั้งหมดก็ไม่ได้ ต้องระวังถ้าวันหน้าฝนไม่ตกอีกจะทำอย่างไร
วันนี้ “หัวใจ” ความสำเร็จ อยู่ที่ประชาชนในพื้นที่ด้วยความร่วมมือ ความเข้าใจ เพราะว่าทุกคนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้นที่เดิมทั้งนั้น เช่น บางระกำ ฟังชื่อก็เหมือนความสุขจะไม่ค่อยมี บางระกำ ก็ระกำช้ำรักไปเรื่อยๆ น้ำท่วมตลอดรัฐบาลก็ต้องเข้าไปแก้ ประชาชนก็ต้องร่วมมือว่าจะแก้อย่างไรเท่านั้นแหละ ที่ผ่านมาก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ สิทธิมนุษยชนขว้างไว้หมดทุกอัน ทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ติดตามสถานการณ์ บางคนต้องเสียสละบางอย่าง เสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ คำสอนของประพุทธเจ้ามีอยู่แล้วจำได้ไหมในวิชาพระพุทธศาสนา ผมยังจำได้ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ เสียอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต จำได้ไปหาท่องเอา จะได้รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร เราจะต้องสามารถบริหารงานได้หมด พื้นที่รับน้ำ-แก้มลิง-แหล่งประปา พื้นที่ภาคการผลิต และพื้นที่ท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศ ดูระบบ ฐานข้อมูล บทเรียน สถิติ มีคณะทำงานที่มีความรู้ และประสานงาน วางแผน ติดตามสถานการณ์ โดยไม่ขัดแย้งกัน หาข้อยุติให้ได้มันจะได้ทำได้ ถ้าเถียงกันไม่เลิก มีปัญหากันอยู่นั้นแหละไม่จบสักที ไม่ทันน้ำท่วมไม่ทันน้ำแล้งหรอกครับ มั่วแต่ศึกษากันอยู่ ทำอะไรให้มันเร็วอย่างที่ทหารทำมั่ง คำนวณ แนวโน้ม ปริมาณน้ำให้ตกลงใจ ให้รวดเร็ว เจ้าหน้าที่ก็ต้องพร้อม เราเน้นการ “ป้องกัน” ด้วยงบประมาณปกติ ไม่อยากให้ใช้งบประมาณ ประเภท“ฉุกเฉิน” มากนัก 50 ล้านบาท มีอยู่ ก็เพิ่มให้ไปแล้ว แต่ละท้องถิ่นก็ใช้งบฯ ของตนที่มีอยู่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะเข้าไปดูแลเยียวยาภายหลังอีก เพิ่มเติมอีกถ้ามีความจำเป็น ก็ขอให้ทุกคนเสียสละบางพื้นที่ต้องยอมเป็นแก้มลิงเราจะชดเชยให้ เป็นที่เก็บน้ำไว้ ครั้งหน้าถ้ามันน้ำแล้ง ยังไงก็ทำไม่ได้อยู่แล้วเพราะเจอทั้งน้ำแล้งน้ำท่วม ถ้าเราสละกันไปแล้วรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้ มันก็เป็นแหล่งน้ำได้รดพืชสวนด้วยไม่ต้องไปเหนื่อยแรงปลูกข้าวก็ได้ราคาเท่ากัน ช่วยกันนะครับ ขอชมเชยทุกคน ราชการ ประชารัฐ ทุกส่วน
สุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีกับกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันทางศิลปวัฒนธรรมระดับโลก ได้แก่ (1) คณะนักร้องประสานเสียง ทำการแข่งขันที่ประเทศรัสเซีย ได้รับรางวัล 2 เหรียญทอง (2) คณะแข่งขัน “เพอร์ฟอร์มมิ่ง อาร์ต” ทำการแข่งขันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลหลายรายการ รวมทั้งเหรียญ “ทีม สปิริต” โดยเฉพาะนาย ธชย ประทุมวรรณ หรือ “เก่ง เดอะวอยซ์”ได้รับรางวัล 14 เหรียญทอง เหรียญทองเดียวก็แย่แล้ว นี้ได้ตั้ง 14 เหรียญทอง กับอีก 5 โล่รางวัลแบกกลับมาไม่ไหว
นอกจากนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับ “คณะนาฏยบูรพา” ซึ่งนำเยาวชน จากหลากหลายสถาบันกว่า 70 คน ที่มีใจรักหุ่นละครเล็ก ผ่านการคัดเลือกจาก 500 ทีมทั่วโลกเป็น 1 ใน 50 ทีมเข้ารอบรายการ World Puppet Carnival ซึ่งเป็นรายการประกวดหุ่นระดับโลก แข่งขันที่ประเทศโปแลนด์ ในวันที่ 24-30 กันยายนนี้ และคณะนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย จำนวน 46 คน ในการแข่งขันกีฬา“พาราลิมปิก เกมส์” ครั้งที่ 15 ณ ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 7 – 18 กันยายนนี้ นักกีฬาโอลิมปิกที่กลับมาฟื้นฟูตนเอง อย่างเสียใจ มีกำลังใจต่อไปสร้างศรัทธาให้ตัวเอง ปลอบขวัญตัวเองไม่ต้องให้ใครเขาปลอบ ปลอบตัวเองได้อยู่แล้ว คนเราต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง อย่าให้คนเขาสงสารให้เขาเห็นใจก็พอแล้ว แล้วก็ฝึกหัดเพิ่มเติมต่อไปวันหน้าก็ชนะได้อย่าท้อถอย ไม่มีใครว่า ทุกคนเขาฝากหัวใจฝากกำลังใจให้กับท่านเสมอ ผมก็ให้ไป แต่จะชนะจะแพ้ก็ไม่เป็นไรหรอกนะ ชนะได้ก็ดี ไม่ชนะก็ไม่เป็นไร คิดแบบนี้แต่ทุกคนจะต้องมีแรงกำลังใจ ว่าจะต้องชนะก็แค่นั้นเอง เราก็จะร่วมเป็นแรงใจให้นะครับ นักกีฬาพาราโอลิมปิกเกม ขอให้ได้ชัยชน.-สำนักข่าวไทย