กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – สมาคมค้าปลีกไทย ค้านรวบสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินเป็นรายเดียว เสนอแยกเป็น 3 ส่วน
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอแสดงจุดยืนคัดค้านกรณีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะเปิดประมูลหาผู้บริหารร้านปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในท่าอากาศยาน 4 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นสัมปทานรายเดียว รวมทั้งประมูลหาผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมเรียกร้องให้ ทอท. เลิกล้มการประมูล เพราะมองว่าการประมูลดังกล่าวเป็นการผูกขาดการประมูล แม้ ทอท. จะเลื่อนกำหนดการขายซองประมูลออกไปจากเดิมวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62 แล้วก็ตาม
ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารแต่ละปีสูงถึง 62.8 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องตามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำรายได้มากกว่า 57,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 1.82 ล้านล้านบาท ขึ้นสู่อันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ สเปน และฝรั่งเศส จึงจำเป็นต้องมีการบริหารร้านปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ให้มีประสิทธิภาพรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงเสนอให้แยกทีโออาร์ในส่วนของสิทธิบริหารร้านดิวตี้ฟรีออกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร้านดิวตี้ฟรีในสนามสุวรรณภูมิ ให้เป็นสัมปทานหลายรายการตามหมวดหมู่สินค้า 2) ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินภูเก็ตให้เป็นสัมปทานรายเดียว และ 3) ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินเชียงใหม่และหาดใหญ่รวมกันเป็น 1 ฉบับ
นายวรวุฒิ กล่าว นายวรวุฒิ กล่าวว่า การจัดสรรสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีหลายรายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยแบ่งตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) เพื่อให้ตรงกับหลักสากลและประโยชน์สูงสุด โดยร้านดิวตี้ฟรีในต่างประเทศให้ผลตอบแทนสูง 30-40% ต่างจากร้านดิวตี้ฟรีของไทยให้ผลตอบแทนเพียง 15-19% ขณะที่การอ้างให้สัมปทานรายเดียวเพราะการกระจายตัวของผู้โดยสารมีความไม่แน่นอน นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าสามารถจัดให้กระจาย 2 – 3 จุดในสนามบิน มีทั้งเครื่องสำอางค์ กลุ่มไวน์ สุรา ยาสูบ รวมทั้งสินค้าหมวดแฟชั่น Luxury ที่ AOT สามารถวางแผนจัดสรรพื้นที่ได้
พร้อมมองว่า การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick-up Counter) ไม่ใช่เป็นการยุติการผูกขาด ธุรกิจร้านค้าปลอดอากรแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาจับจ่ายจับจ่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองที่จะมารับสินค้าที่สนามบิน
นอกจากนี้ สมาคมฯ เสนอแนะให้ตรวจสอบสัมปทานทั้งร้านดิวตี้ฟรีและร้านค้าเชิงพาณิชย์ว่าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่ โดยให้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายภายใต้คณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา . – สำนักข่าวไทย