กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – กฟน. ลุยเดินหน้าโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินถนนรัชดา – พระราม 9 สร้างความเพียงพอ มั่นคง ให้กับระบบไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจของหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ในอนาคต
นายกนิษฐ์ ลือตระกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานงานประชุมชี้แจงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆในพื้นที่เข้าร่วมฟังการชี้แจงรายละเอียดในครั้งนี้
นายราเชนทร์ พฤทธิพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กฟน. กล่าวว่า กฟน. ได้เริ่มดำเนินโครงการบนถนนรัชดาภิเษก (แยกถนนลาดพร้าว ถึงแยกถนนพระราม 9) และถนนเชื่อมต่อ รวมระยะทางการดำเนินงาน 2 ฝั่งถนน 14.3 กิโลเมตร มูลค่าสัญญาโครงการกว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจของหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ในอนาคต ทำให้พื้นที่โดยรอบมีทัศนียภาพที่สวยงาม ปลอดภัย ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย
นายราเชนทร์ กล่าวว่า วิธีการก่อสร้างของโครงการนี้ ประกอบด้วยการก่อสร้าง 3 รูปแบบ คือ 1.งานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าด้วยวิธีขุดเปิดบนทางเท้า (Open Cut) 2.งานก่อสร้างท่อด้วยวิธี HDD (Horizontal Directional Drilling) และ 3.งานก่อสร้างด้วยวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) โดย กฟน. จะดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 05.00 น. ของวันถัดไป เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อการจราจร
ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ในปี 2562 ประกอบด้วย
1) โครงการที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ โครงการถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) และถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) รวมระยะทาง 0.3 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จเดือนเมษายน โครงการถนนนานา(ช่วงถนนสุขุมวิท ถึง คลองแสนแสบ) รวมระยะทาง 0.75 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จเดือนเมษายน โครงการถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จเดือนธันวาคม และโครงการวิทยุ รวมระยะทาง 2.1 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จเดือนธันวาคม
2) โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 54.1 กิโลเมตร อาทิโครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และฏครงการถนนวิทยุ
3) โครงการที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างในปี 2562 รวมประมาณ 114.9 กิโลเมตร มูลค่าของสัญญากว่า 20,000 ล้านบาท อาทิ โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของ กฟน. ได้ดำเนินการรวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร โดยมีโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 45.6 กิโลเมตร โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง 54.1 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง 114.9 กิโลเมตร . – สำนักข่าวไทย