6 มี.ค. – ในรอบเพียง 5 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุนักศึกษาสาวคิดสั้นฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่างๆ รวม 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 คน ส่วนอีก 1 คนบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล สะท้อนถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่องค์การอนามัยโลกแสดงความเป็นห่วง
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม เกิดเหตุนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ขอนแก่น คณะมนุษยศาสตร์ฯ ชั้นปี 1 คิดสั้นกระโดดจากชั้น 9 ของอาคารเรียน จากการตรวจสอบพบว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แม้ถูกนำตัวยื้อชีวิตที่โรงพยาบาล แต่สุดท้ายแพทย์ช่วยไม่ทัน
ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม เกิดเหตุนิสิตมหาวิทยาลัยย่านปทุมวัน กระโดดตึกชั้น 12 ของอาคารเรียน พบเป็นนิสิตสาวอายุ 22 ปี ชั้นปีที่ 4 สภาพศพยังสวมชุดนิสิต และพบบัตรผู้ป่วยโรงพยาบาล ขณะที่พบข้อมูลว่ามีอาการเครียดและป่วยโรคซึมเศร้า
และในวันเดียวกัน (1 มี.ค.) เกิดเหตุนักศึกษาสาวชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในนครปฐม กระโดดหอพักเอกชนในซอยฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะนี้ยังอาการสาหัส กระทั่งเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้นิสิตสาวต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกคนหนึ่ง
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทุกๆ 40 วินาที จะมีคนพยายามก่อเหตุฆ่าตัวตาย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปีละ 800,000 คน และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการตายในผู้คนที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี
นอกจากนี้ WHO แนะนำหลักกลยุทธ์ป้องกันการฆ่าตัวตาย ภายใต้ชื่อ “LIVE LIFE” โดย LIVE มาจากอักษร L ตัวแรกมาจาก Leadership คือภาครัฐต้องเป็นผู้นำด้านนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตาย
I มาจากคำว่า Interventions คือ การแทรกแซงการฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่างๆ
V มาจาก Vision คือ มุมมองต่อปัญหาดังกล่าวที่ต้องแก้อย่างจริงจัง
E มาจากคำว่า Evaluation ที่จะต้องประเมิน สังเกต เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง
ส่วน LIFE มาจากอักษร L คือ Less Means คือ จำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์การฆ่าตัวตาย
I มาจากคำว่า Interaction with media คือ การรายงานข่าวการฆ่าตัวตายอย่างมีจรรยาบรรณ
F มาจากคำว่า Form the young หมายถึงการเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตในวัยเด็กเพื่อแก้ปัญหา
สุดท้ายคือ E มาจากคำว่า Early identification หมายถึง การประเมินกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้. – สำนักข่าวไทย