กรุงเทพฯ 6 มี.ค. – รมว.เกษตรฯ ยืนยันยังไม่ได้ลงนามข้อตกลงจำกัดส่งออกยางพาราร่วมกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขอพิจารณาความเหมาะสมปลายเดือนพฤษภาคม ทั้งสถานการณ์การเมืองและราคายางพารา
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับทราบผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เทคนิคอาวุโสจาก 3 ประเทศแล้ว ซึ่งผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ของไทย ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการเศรษฐกิจสาธารณรัฐอินโดนีเซียและผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของมาเลเซียได้รับมอบหมายจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) สมัยพิเศษให้ตกลงรายละเอียดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยประเด็นสำคัญ คือ การจำกัดการส่งออกยางพารา เพื่อลดปริมาณสตอกยางในตลาดโลกที่อาจกระตุ้นราคายางพาราให้สูงขึ้น
นายกฤษฎา กล่าวว่า ไทยเห็นด้วยในหลักการของมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยางของ 3 ประเทศ (AETS) รวม 240,000 ตัน แต่ยังไม่พิจารณาดำเนินการขณะนี้ โดยอินโดนีเซียและมาเลเซียจะเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ส่วนไทยขอพิจารณาปลายเดือนพฤษภาคมไปแล้ว หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น โดยมารยาทนั้นสมควรให้รัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการดังกล่าวหรือไม่
ส่วนมาตรการที่ ITRC เห็นร่วมกัน คือ หาวิธีเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น เช่น การทำถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา ซึ่งอินโดนีเซียและมาเลเซียจะนำโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ของไทยเป็นต้นแบบ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการบริหารจัดการผลผลิตในประเทศ โดยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน และมาตรการด้านตลาด โดยการจัดทำตลาดยางพาราร่วมกันระหว่างภูมิภาค เพื่อซื้อขายยางพาราล่วงหน้า จากนี้ไปบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด จะบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในตลาดโลก
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการกำหนดนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาราคายางทั้งนโยบายระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างที่ราคายางพาราตกต่ำ โดยเชิญชวนและรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง หรือหยุดกรีดยางเป็นเวลา 1 – 2 เดือน การส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้น ยางปูสนามฟุตซอล เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ได้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งใน และต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนผลิต และแปรรูปยาง โดยให้มีสิทธิพิเศษทางการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีมาตรการควบคุมการผลิต โดยเชิญชวนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ทดแทนยางพารา เช่น กาแฟ โกโก้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านยางพาราภายในประเทศ เช่น ผลิตล้อยาง ถุงมือยาง สายพาน เครื่องนอน เป็นต้น
สำหรับโครงการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศสร้างถนนยางพารากว่า 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศกำลังอยู่ระหว่างสำรวจความต้องการสร้างถนน ซึ่งมั่นใจว่าสามารถดูดซับน้ำยางออกจากระบบตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ล่าสุดกระทรวงคมนาคมตอบรับที่จะให้กรมทางหลวงชนบทใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมสร้างถนนทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ตามนโยบายเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในภาครัฐ ขณะที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่าราคาน้ำยางสดวันนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 48.70 บาท ปรับตัวสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ 1.00 บาท ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ตลาดกลางกยท. กิโลกรัมละ 51.00 บาท ปรับสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ 30 สตางค์.-สำนักข่าวไทย