กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ หนึ่งในนั้นคือ การกำหนดให้ รปภ.ทุกคนต้องมีใบอนุญาต แต่ตัวเลข รปภ.ทั่วประเทศขณะนี้ 400,000 คน มีถึงเกือบ 200,000 คน ที่ยังไม่มีใบอนุญาต และอาจตกงานได้ หากฝืนทำต่อก็มีความผิดตามกฎหมาย ติดตามจากรายงาน
พงษ์ศิริ เพิ่งเข้าทำงานเป็น รปภ.ได้ไม่ถึงครึ่งเดือน หลังรายได้ที่เคยเปิดแผงขายของเริ่มไม่พอกับรายจ่ายของครอบครัว แต่พอรู้ว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมนี้ กฎหมายธุรกิจรักษาความปลอดภัยบังคับใช้ หลังหมดช่วงผ่อนผัน เขาอาจมีความผิด เพราะยังไม่มีใบอนุญาตเป็น รปภ. ตามที่กฎหมายกำหนด
ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ผู้ใดทําหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่องค์กรวิชาชีพรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมี รปภ.ทั่วประเทศกว่า 400,000 คน กว่าครึ่งหรือ 200,000 คน ยังไม่มีใบอนุญาต เพราะยังมีชั่วโมงอบรมไม่ครบ
กฎหมายฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2559 ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านการรักษาความปลอดภัยและพนักงาน รปภ.รู้สึกกังวล เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการยื่นข้อเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้อง
8 เดือนต่อมา หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ขยายเวลาขออนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจและ รปภ.รายเดิม และแก้ไขบางมาตราเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ รปภ. อาทิ เรื่องวุฒิการศึกษา จากที่ต้องจบ ม.3 เป็นจบการศึกษาภาคบังคับขณะนั้น ทำให้ รปภ.ที่จบ ป.4 ยังทำงานต่อไปได้ และเมื่อสิ้นสุดการขยายเวลาขออนุญาต 360 วัน ทำให้กฎหมายฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ก็มีการขยายเวลาการฝึกอบรม รปภ. ซึ่งกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก่อนบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบ 4 มีนาคมนี้
มีการขับเคลื่อนขององค์กรวิชาชีพรักษาความปลอดภัยฯ มาโดยตลอด เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ รปภ.เกือบ 200,000 คน ที่กำลังจะกลายเป็น รปภ.เถื่อน หลังวันที่ 3 มีนาคมนี้ และยังไม่มีมาตรากฎหมายที่ส่งเสริมให้บุคคลเข้าสู่อาชีพ รปภ. อย่างเรื่องสวัสดิการ และกองทุน ทั้งที่เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน ล่าสุดมีการหารือเร่งด่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ที่ประชุมรับเรื่องและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเรื่องข้อกฎหมาย และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดฝึกอบรม รปภ. ไปดูว่ามีแนวทางยืดหยุ่นผ่อนปรนได้หรือไม่ เพื่อให้ รปภ.ที่ยังอบรมไม่ครบ 40 ชั่วโมง ยังทำงานต่อไปได้. – สำนักข่าวไทย