ก.พาณิชย์ 30 ส.ค.-เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี
ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ รวมตัวยื่นเอกสารคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยบริษัทยาอเมริกา โดยยื่นเอกสาร หลักฐานคัดค้านกว่า 1,000 หน้าให้เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาต่อไป
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การมายื่นคัดค้าน เพราะยาตัวนี้ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรเพราะไม่มีความใหม่ และไม่มีนวัตกรรมขั้นสูง หลักฐานงานวิจัยในต่างประเทศ 13 ชิ้น พบว่าโครงสร้างทางเคมีของยาตัวนี้มีการประดิษฐ์มานานเกินกว่า 12 เดือนแล้ว แต่บริษัทฯเพิ่งมายื่นจดสิทธิบัตร ซึ่งไม่เข้าข่ายนวัตกรรมความใหม่และยังพบความไม่โปร่งใสที่มาขอรับสิทธิบัตรในไทยวันที่ 28มี.ค.2551ยังไม่ได้รับโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ โดยมีการโอนสิทธิในภายหลัง ขัดต่อมาตรา 10 ในพ.ร.บ.สิทธิบัตร ซึ่งบริษัทย่อมไม่มีสิทธิในการดำเนินการใดๆเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์
ทั้งนี้ การคัดค้านยาชนิดนี้ไม่ได้มีเฉพาะในไทย ที่จีนและรัสเซีย ก็มีและได้ปฏิเสธการให้สิทธิบัตรกับยาตัวนี้แล้ว ขณะที่ในยุโรป อินเดีย ยูเครน บราซิล อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งหากยาตัวนี้ได้รับสิธิบัตรในไทย ผู้ที่ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีไนไทยกว่าล้านคนจะต้องจ่ายเงินให้กับกระบวนการรักษาด้วยยาตัวนี้ถึงกว่า 2,500,000 บาท และจะมีผลผูกขาดยาวนานถึง 20 ปี ซึ่งหากคำขอคัดค้านครั้งนี้สำเร็จ จะช่วยให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาอื่น มีช่องทางในการผลิตยาตัวเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งในอินเดียผลิตยา โซฟอสบูเวียร์ ในราคาเม็ดละประมาณร้อยกว่าบาท ขณะที่อเมริกาขายเม็ดละกว่า 30,000 บาท เทียบกันแล้วตลอดการรักษาผู้ป่วยจะจ่ายเงินประมาณ กว่า 20,000บาท แทนที่จะต้องจ่าย 2,500,000 บาท
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กรมสิทธิบัตร แจ้งให้ทั้งผู้ขอรับสิทธิบัตร ทราบว่ามีการคัดค้าน โดยให้นำหลักฐานมาชี้แจงภายใน 90 วัน จากนั้นจึงจะนำเอกสารของทั้งสองฝ่ายมาพิจารณากันต่อไป
ทั้งนี้ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี เป็นยาชนิดฉีด ซึ่งประสิทธิภาพไม่ได้ดีและครอบคลุมสายพันธุ์เชื้อทั้งหมด แถมมีผลข้างเคียงสูงมากเทียบเท่ายารักษามะเร็ง ซึ่งยา โซฟอสบูเวียร์จะได้ผลครอบคลุม ประสิทธิภาพการรักษาสูงกว่า และไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากยานี้ยังมีราคาแพงจึงยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ .-สำนักข่าวไทย