กทม.26 ก.พ.–อย.พร้อมรับทุกความเห็นนำไปปรับปรุงเรื่องกัญชา แต่วอนเข้าใจช่วงแรกเน้นทางการแพทย์ เอกชนยังต้องได้รับอนุญาตจากกรมการแพทย์แผนไทย ขณะที่ประชาชนชนกังวล อย.พิจารณานิรโทษไม่ทัน 90วัน โดนยึดกัญชา ส่งผลการรักษาโรค
วันนี้ (26ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จัดการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ 2562 ประกอบด้วย 2 ร่างประกาศ 1 กฎกระทรวง ได้แก่ ร่างประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน,ร่างประกาศกำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคและศึกษาวิจัยได้ รวมถึงร่างกฎกระทรวง การขออนุญาต และการอนุญาต ผลิตนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ โดยมีตัวแทนภาคประชาชน เกษตรกร และจากหน่วยอานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชามาร่วมงานจำนวนมาก
นายสุเทพ เลาหะวัฒนะ ที่ปรึกษาประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังการรับฟังความเห็นว่า แม้จะมีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐที่จะเดินหน้าให้ใช้กัญชาในการแพทย์ได้ ส่วนตัวค่อนข้างเป็นกังวลช่วงเวลา 90 วันที่ทาง อย.แจ้งให้ผู้ครอบครองกัญชามาแจ้งเพื่อให้นิรโทษ แม้ตอนนี้จะมีโรคที่ทาง อย.ได้อนุมัติแล้ว แต่โรคที่ อย.อยู่ในระหว่างการศึกษา และโรคเชิงประจักษ์ที่กัญชารักษาแล้วได้ผล หากมาแจ้งแต่ภายใน 90 วัน อย.ไม่อนุญาต คนกลุ่มนนี้ต้องถูกยึดกัญชา จะส่งผลให้การรักษามีปัญหาในทันที รวมถึงขั้นตอนการขออนุญาตจากแพทย์แผนไทย ที่แม้จะผ่านการอบรมอย่างถูกกต้องตามกฏหมาย แต่เมื่อเป็นเอกชน กลับมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องผ่านเกณฑ์การใช้กัญชารักษาโรคจากกรมการแพทย์แผนไทย และ อย.อีกชั้น ส่วนตัวค่อนข้างกังวลเพราะ 90 วันหลังมีการประกาศใช้เกรงว่าจะไม่สามารถพิจารณาทุกกรณีที่ยื่นมาจากกทั่วประเทศได้ทัน
“ของที่เป็นพิษเป็นภัยกับร่างกายประชาชน ทั้งบุหรี่ เหล้า หรือสารพิษยาฆ่าแมลง ทางภาครัฐทำไมยังผ่านร่าง อนุญาตให้มีวางขายจำหน่ายได้ทั่วไปอย่างง่ายๆ แต่กัญชาที่มีการวิจัย ผ่านการทดสอบจากทั่วโลกแล้วว่าไม่ใช่สารเสพติด เป็นยารักษา กลับเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญกว่าจะให้ประชาชนเข้าถึง อยากขอความวิงวอนเห็น นึกถึงหัวอกคนป่วยที่ต้องใช้กัญชาในการรักษาโรค คนกลุ่มนี้ พวกเขาใช้ต่อลมหายใจในการมีชีวิตอยู่” นายสุเทพ กล่าว
ขณะที่นายพายัพ ยังปักษี เลขาธิการสภากัญชาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเรื่องการส่งเสริมเสรีกัญชาให้เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ เข้าใจว่ายังไม่สามารถเปิดกว้างได้ เป็นเรื่องของนโยบายก็ไม่ว่ากัน ยังอนุญาตเฉพาะใช้วิจัยและรักษาทางการแพทย์เท่านั้น แต่จะทำให้กัญชาขึ้นมาจากใต้ดินได้จริงหรือไม่ ตรงนี้ยังเป็นคำถามจากภาคประชาชน โดยเฉพาะกับภาคเอกชน เช่นหมอยา ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ไม่ได้ขึ้นกับภาครัฐ แต่มีความรู้มากมายเรื่องต้นตำรับยาแผนไทย แทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากกฏหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ คำถามคือหลังจากนี้ 5 ปีที่ทาง อย.ระบุขอเวลาทำงานจะสามารถปลดล็อคได้มากขนาดไหน ตรงนี้ยังเป็นสิ่งที่ อย.ยังให้คำตอบกับภาคประชาชนไม่ได้
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) กล่าวว่า สำหรับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน อย.ยินดีน้อมรับ โดยความเห็นที่ได้รับแบ่งแยก ย่อยออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ ทำอย่างไรให้การใช้กัญชาเกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด , ทำอย่างไรที่จะให้คนไข้ที่ใช้กัญชารักษาได้ใช้ได้อย่างเหมาะสม และการใช้กัญชาในการรักษาและทดลองในสัตว์ ซึ่งประเด็นสุดท้ายเป็นสิ่งนอกเหนือความคาดหมายต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการอีกครั้ง
ขณะที่เรื่องของคลินิกเอกชนซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่สามารถใช้กัญชานำมารักษาโรคได้นั้น อย.มีข้อกังวล เกี่ยวกับความปลอดภัยในการรักษา ที่อาจจะเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ ยังคงต้องขอให้ได้รับการรับรองกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึง อย.ด้วย สำหรับในร่างประกาศเกี่ยวกับตำรับยาที่มีกัญชาผสมอยู่ เบื้องต้นให้ไว้ 16 ตำรับแต่ไม่ได้ปิดกั้นตำรับอื่นๆ เพียงแต่ต้องศึกษาต่อเนื่อง หากตำรับที่เหลือมีความปลอดภัยก็ประกาศเพิ่ม ซึ่งตามกฎหมายยังต้องใช้กัญชารักษาโรคผ่านสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น
สำหรับประเด็นการขอให้ภาคเกษตรกรปลูกกัญชาได้ ใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ เรื่องนี้ต้องขอทำความเข้าใจว่ากฏหมายที่อนุญาตจะปลดล็อกเฉพาะในการใช้ปลูกเพื่อวิจัยและรักษาโรคในทางการแพทย์เท่านั้น แต่ก็ไม่เชิงห้ามภาคประชาชนปลูก เพียงแต่ต้องทำภายใต้ความร่วมือกับภาครัฐ ซึ่งก็มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายใหญ่
“สำหรับความเห็นทั้งหมดจะรวบรวมและนำเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษต่อไป สิ่งสำคัญอย่าลืมว่าไทยไม่ได้ใช้กัญชามานาน แต่เมื่อองค์ความรู้เปลี่ยนไป จึงอยากเปิดช่องทางการแพทย์ แต่ก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยด้วย จึงต้องดูทุกอย่างอย่างรอบคอบ”เลขาธิการ อย. กล่าว
สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางออนไลน์ สามารถเสนอได้จนถึงวันที่ 1 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นก็จะรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาทั้ง 3 ฉบับภายในต้นเดือนมี.ค.แต่สำหรับฉบับที่เป็นร่างกฎกระทรวงจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกรอบ โดยเสนอเข้า ครม.ต้องดำเนินการภายในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนร่างประกาศกระทรวงอีก 2 ฉบับเสนอให้ รมว.สาธารณสุขลงนามและรอประกาศในราชกิจจานุเบก ษาต่อไป ซึ่งจะเหมือนกับประกาศกฎหมายนิรโทษการครอบครองกัญชา 3 ฉบับก่อนหน้านี้ ที่รัฐมนตรีฯลงนามและรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในส่วนร่างประกาศนิรโทษการครอบครองกัญชานั้น คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินภายในวันนี้ และจะสามารถใช้ได้ในวันถัดไป .-สำนักข่าวไทย