ราชบุรี 20 ก.พ. – เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer เรียนจบ ม.เกษตรศาสตร์ กลับบ้านเกิด นำวิชาความรู้มาพัฒนาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบกล้วย กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนโควินท์
พื้นที่ 4 ไร่ อยู่ติดลำคลองเชื่อมต่อแม่น้ำแม่กลอง หมู่ 2 ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี ปลูกผลไม้ผสมผสาน มีทั้งมะพร้าว มะม่วง กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ของ น.ส.วิภาดา โควินท์ อายุ 23 ปี หลังเรียนจบมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ได้นำวิชาความรู้คิดค้นพัฒนาการแปรรูปกล้วยเป็นผลสำเร็จ ทำเป็นข้าวเกรียบกล้วย กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนโควินท์ แหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมดูเทคนิควิธีการทำ ล่าสุดมีคณบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำนักศึกษามาดูงานวิธีการแปรรูปกล้วยจากพลังงานแสงอาทิตย์
น.ส.วิภาดา เปิดเผยว่า หลังเรียนจบจากคณะเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คิดอยากกลับมาพัฒนาที่บ้านสวนโควินท์ เพราะบรรพบุรุษก็เคยมีอาชีพทำสวนมาก่อน ทั้งปลูกกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า มีผลผลิตตลอดทั้งปี แต่ราคาจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับท้องตลาด ช่วงแรกคิดว่าอยากทำกล้วยฉาบ แต่มองว่ามีคนแปรรูปทำกันมากแล้ว จึงมีแนวคิดหันมาทดลองทำข้าวเกรียบกล้วย เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นเองมาได้ประมาณ 1 ปี ถือเป็นคนที่ 2 ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการคิดค้นทดลองทำข้าวเกรียบกล้วย ที่สำคัญยังมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรตำบลบางป่าเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ส่งเสริมเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การแนะนำการทำบรรจุภัณฑ์ให้ดูสวยงาม ส่วนตลาดจะขายทางตลาดออนไลน์และตามงาน OTOP ทั่วไป และถนนคนเดินในเมืองราชบุรี ช่วงวันหยุด
หลังผ่านการอบรม Young Smart Farmer รุ่นที่ 5 เมื่อปี 2561 น.ส.วิภาดา ได้นำความรู้มาพัฒนาสร้างอาชีพจนประสบความสำเร็จ มีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งที่น่าสนใจของ จ.ราชบุรี พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่จะเชื่อมโยงกับพื้นที่วิสาหกิจชุมชนใกล้เคียง ให้ผู้สนใจนั่งเรือแวะมาเยี่ยมชม และเลือกซื้อสินค้าของฝาก ของที่ระลึก เป็นการสร้างเพิ่มมูลค่า เสริมรายได้แก่ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
กล้วยนอกจากปลูกเองแล้วยังรับซื้อจากชาวบ้านใกล้เคียง ใช้กล้วยแก่สุกประมาณ 90% นับอายุจากตัดปลีกล้วย จะนำกระดาษเขียน วัน เดือน ไปผูกไว้ที่ต้นกล้วยเพื่อคำนวณวันที่จะตัด เมื่อตัดแล้วนำมาวางใช้ผ้าคลุมประมาณ 4 วันจนสุก หลังจากนั้นนำมาปอกเปลือกหั่นปั่นกับกะทิตามอัตราส่วน กล้วย 1 กิโลกรัมต่อกะทิ 100 มิลลิลิตร และนำไปคลุกเคล้ากับแป้งมันจนกลมกลืน ใช้มือนวด 10 นาที ปั้นเป็นก้อน ปั้นเป็นแท่งกลมคล้ายรูปไข่ จากนั้นจะนำไปนึ่ง และนำไปแช่เย็นอีกครั้ง จึงจะนำไปหั่นเป็นแว่น ตากแดดในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ที่สร้างเป็นหลังคาพลาสติกทางอาหารทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัย แบบใส มีความร้อนประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส ใช้ต้นทุนก่อสร้างโรงเรือนประมาณ 100,000 บาท นำมาตากแดกพร้อมกัน ทั้งกล้วยตาก กล้วยกวน และข้าวเกรียบกล้วย ตากประมาณ 5 แดด รสชาติจะเหนียวนุ่มอร่อย นำมาบรรจุใส่กล่อง ขายราคาห่อละ 10-39 บาท
ความแตกต่างกล้วยไข่จะมีสีเหลืองเข้มน้ำตาล กล้วยหอมจะออกสีขาว ส่วนกล้วยน้ำว้าจะออกมาเป็นสีแดง มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปออกมาแล้วมีข้าวเกรียบกล้วยหอม ข้าวเกรียบกล้วยน้ำว้า ข้าวเกรียบกล้วยหอมขายราคาถุงละ 25 บาท ข้อดีของข้าวเกรียบกล้วยที่นี่จะใช้น้ำมันมะพร้าวทอด นอกจากจะมีไขมันทรานส์น้อยกว่าไขมันน้ำมันพืชทั่วไปแล้ว ยังยืดอายุเวลาอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาความรู้เทคนิคการผลิตข้าวเกรียบกล้วยได้ที่สวนโควินท์ โทร. 089-5170607. – สำนักข่าวไทย