กรุงเทพฯ 19 ก.พ.-กระทรวงเกษตรฯร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศรองรับเกษตรระบบเกษตรอย่างแม่นยำ 3 โมเดล ทั้งเตือนหยุดเผาไร่นา ก่อน 7 วันช่วงอากาศปิด แจ้งพื้นที่เสี่ยงเกิดโรคแมลงระบาด แจ้งช่วงเวลาทำเกษตร 120 วัน ส่งข้อมูลถึงเกษตรกรวางแผนการผลิตในพื้นที่ล่วงหน้าได้ตลอดฤดูเพาะปลูก กำหนดวันปลูก ใส่ปุ๋ย ผสมเกสร เก็บเกี่ยว ตาก ลดความเสี่ยงการผลิต
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้หารือกับนายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเตรียมการและกำหนดประเด็นการร่วมกันพัฒนาโมเดลพยากรณ์สภาพภูมิอากาศเพื่อแจ้งเตือนภาวะเสี่ยงและแนะนำภาวะเหมาะสมสำหรับกิจกรรมการเกษตรแก่เกษตรกร ได้ข้อตกลงในการพัฒนาการพยากรณ์ จำนวน 3 โมเดล คือ การพยากรณ์สภาพอากาศปิด ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อแจ้งเตือนการหยุดเผาในไร่นาของพื้นที่เสี่ยงต่อการสะสมฝุ่นละออง ป้องกันไม่ให้กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน, การพยากรณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการระบาดของโรคแมลงชนิดต่างๆ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย เพื่อการแจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมการป้องกันและวางแผนควบคุมล่วงหน้า และ การพยากรณ์สภาพอากาศรองรับระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ล่วงหน้าถึง 120 วัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่ล่วงหน้าได้ตลอดฤดูเพาะปลูก สามารถกำหนดวันปลูก ใส่ปุ๋ย ผสมเกสร เก็บเกี่ยว ตาก ฯลฯ และเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต ทำให้ลดความเสียหายของการผลิต เช่น การพยากรณ์วันฝนตก วันปลอดฝน ช่วงอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) สำหรับการเกษตรในพื้นที่เปิด
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมที่จะดำเนินการพยากรณ์สภาพอากาศปิดเพื่อสนับสนุนให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำไปใช้ในการแนะนำแก่เกษตรกรได้ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตร ก็พร้อมที่จะส่งพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา เงื่อนไขของสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค แมลงชนิดต่างๆ และสภาพที่เหมาะสมต่อการทำกิจกรรมเกษตรขั้นตอนต่างๆให้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทันทีและต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาโมเดลการพยากรณ์ร่วมกัน นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมอุตุนิยมวิทยายังได้มีแผนการจัดทำพื้นที่นำร่องสังเกตการณ์ผลการพยากรณ์เพื่อการปรับโมเดลพยากรณ์ภูมิอากาศเพื่อการเกษตรดังกล่าวให้มีความแม่นยำขึ้นเป็นลำดับต่อไป โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยได้พัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดบนฐานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม. – สำนักข่าวไทย