กรุงเทพฯ 15 ก.พ. – เอกชนเดินหน้าส่งเสริมเด็กไทยสนใจเคมี ผ่านกิจกรรม “เคมีดาวอะคาเดมี่” พัฒนาศักยภาพ ครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง สร้างเน็ตเวิร์คครูอาเซียน
น.ส.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกกิตติคุณสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ และผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ศาตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จัดกิจกรรม “เคมีดาวอะคาเดมี่” ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องในการเสริมศักยภาพของครูที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 83 คน จากทั่วประเทศ รวมถึงครูจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา และอินโดนีเซีย มาร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางการพัฒนาสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ที่สามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดการปฎิบัติการทดลองให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนไทยให้หันมาสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
ในกิจกรรมเวิร์คชอปครั้งนี้ ยังได้นำชุดทดลองแบบย่อส่วนที่ได้รางวัล Dow-CST Award มาทำการทดลองจริงและวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการคิดค้นและต่อยอดชุดการทดลองใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคตของครูไทยและครูต่างประเทศ ทำให้เกิดความร่วมมือและสร้างเครือข่ายของครูวิทยาศาสตร์ในอาเซียน
“ระบบการเรียนผ่านเทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน เป็นสื่อการสอนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย เม็กซิโก ญี่ปุ่น จีน ซึ่งหากวงการศึกษาไทยนำเทคนิคมาใช้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเชิงบวกในแง่ของการลดต้นทุนของการใช้สารเคมีและค่าใช้จ่ายลงกว่า 90% ช่วยลดปริมาณของเสียซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ Green World ” นางสาศุภวรรณ กล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการห้องเรียนเคมีดาว กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้สนับสนุนอุปกรณ์การทดลองแบบย่อส่วนมาใช้เป็นสื่อการสอนคู่ขนานไปกับวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 2556 และได้มีการสร้างครูต้นแบบมาแล้ว 5 รุ่น จำนวน 77 คน จากโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ไปยังครูในโรงเรียนอื่น ๆ นับเป็นความสำเร็จของการพัฒนาวิชาวิทยาศาสตร์ให้ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงการปฎิบัติการทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง และมีความเข้าใจในวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นการเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้เยาวชนของประเทศมีคุณภาพเพื่อเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งวิทยาศาสตร์จะเป็นส่วนสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ . – สำนักข่าวไทย