สำนักงาน กกต. 8 ก.พ.- กกต.ระบุคำร้อง “ไพบูลย์” เป็นประเด็นนำสถาบันมาใช้หาเสียง ไม่ใช่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เตือนพรรคไทยรักษาชาติให้ดูระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ก่อน หากจะนำรูปแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นป้ายหาเสียง
นายณัฐฏ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นอำนาจของผอ.กกต.เขต ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กฎหมายก็เขียนชัดว่าเป็นอำนาจของ กกต. แต่สำหรับคุณสมบัติของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ กกต.ยังเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า กกต.มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ หรือมีอำนาจเพียงประกาศรายชื่อตามที่พรรคเสนอมา แต่เบื้องต้นเท่าที่อ่านกฎหมาย น่าจะมีอำนาจแค่ประกาศ แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานฯ กำลังศึกษาข้อกฎหมายทั้งหมด และจะเสนอต่อที่ประชุมกกต.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปยื่นหนังสือขอให้ กกต. ระงับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคไทยรักษาชาตินั้น เบื้องต้นต้องดูก่อนว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ก่อน ซึ่งปัจจุบันที่มีการยื่นคำร้องปรากฏทางสื่อ เป็นการร้องเรื่องการนำสถาบันฯ มาใช้หาเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.ประกาศรายชื่อของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ แล้ว ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ต่างจากผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.
เมื่อถามว่า พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) สามารถนำรูปแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นป้ายหาเสียงได้เลยหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ข้อ 17 กำหนดไว้ว่า ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.คงต้องพิจารณาก่อน และถ้าจะให้ดีทุกพรรคควรรอการประกาศรับรองจาก กกต.ในวันที่ 15 ก.พ.ก่อน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ปัดที่จะอธิบายรายละเอียดว่าพรรค ทษช.จะมีขอบเขตในการนำแคนดิเดตนายกฯ ไปใช้หาเสียงได้อย่างไร โดยอ้างว่า ทุกพรรคทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรทำได้ ไม่ได้แค่ไหน ในช่วงของการเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย