ภูมิภาค 1 ก.ย.- นายกสมาคมสวนยางอีสานตั้งข้อสังเกตข่าวอ้างถึงค่ายยางรถยักษ์ใหญ่ไม่รับซื้อยางพาราภาคอีสานออกมาในช่วงราคากำลังขึ้น หลังมีข่าวร่วงไป 3 บาท ชี้ข่าวเช่นนี้มีมา 2 ปีแล้ว เรียกร้องผู้เกี่ยวข้องแจงให้ชัดใช้กรดซัลฟิวริก ย้ำสมาคมฯ รณรงค์คุณภาพยางของเกษตรกรมาตลอด เช่นเดียวกันชุมนุมสหกรณ์ฯ สวนยางอุบลฯ มองเป็นเกมทางการค้า
นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวค่ายยางรถยนต์ระดับโลกไม่รับซื้อยางพาราจากภาคอีสานอ้างเหตุผลพบการใช้กรดซัลฟิวริกกว่า 80 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ยางเซทตัว ส่งผลต่อคุณภาพของยางล้อว่า การใช้สารซัลฟิวริกเคยพูดกันมา 2 ปีแล้ว ซึ่งสมาคมฯ ได้ประชุมกันทุกเดือน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย ความจริงข่าวแบบนี้ออกมาได้ 2 ปีแล้ว และก็เงียบไป ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ชาวสวนยางเปลี่ยนจากการใช้กรดซัลฟัวริกมาใช้เป็นกรดฟอร์มิก และเชื่อว่าขณะนี้ชาวสวนยางเปลี่ยนมาใช้กรดฟอร์มิกถึง 60 เปอร์เซนต์แล้ว อีกทั้ง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตยางรถยนต์ ยังไม่ออกมาพูดเรื่องนี้โดยตรง มีเพียงผู้ผลิตยางแท่งส่งให้กับ 2 บริษัทออกมาพูดถึงเรื่องนี้
นายธีระชัย กล่าวด้วยว่า ยางอีสานมีคุณภาพดี นิยมนำไปทำยางแท่ง STR 20 เมื่อมีข่าวออกมาเช่นนี้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันให้ชัดเจนว่าการใช้กรดซัลฟิวริกทำให้ยางไม่มีคุณภาพอย่างไรหรือไม่ เพราะในส่วนของสมาคมฯ ก็ได้รณรงค์เพื่อให้ยางของอีสานมีคุณภาพดี สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง แต่การออกมาพูดครั้งนี้มองได้หลายแง่ ซึ่งราคายางแผ่นดิบรมควันชั้นต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ กำลังมีแนวโน้มราคายางจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคายางก้อนถ้วยมีมากในภาคอีสาน ก็มีราคาจะสูงตามขึ้นด้วย จาก 2 เดือนก่อน กก.ละ 13 บาท แต่ขณะนี้ราคาขึ้นมาถึง 24-25 บาท เมื่อมีข่าวออกมาราคาลดลงไปเหลือ 21 บาทเท่านั้น
“การพูดอย่างนี้ต้องมีหลักฐานยืนยันว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ซื้อยางภาคอีสาน และทางโรงงานรับซื้อยาง เพราะว่าเมื่อถึงเวลาก็ให้คนไปประมูลยาง นำยางไปผลิตเพื่อส่งออกอีกทีหนึ่ง ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการกดดันราคา ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานเห็นว่าหากผู้ผลิตยางรายนี้ที่กล่าวอ้างถึงบริษัทยักษ์ใหญ่นั้นจะไม่ซื้อยางภาคอีสาน เราก็จะไม่ไปขายให้ เพราะว่าเรื่องดังกล่าวผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตยางรายนี้ออกมาพูดเพียงบริษัทเดียว ดังนั้น หากเป็นไปได้ขอให้ 2 บริษัทยางยักษ์ใหญ่ออกมาพูดให้ชัด ๆ รวมทั้งคำแนะนำต้องทำอย่างไร ฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตส่งวัตถุดิบให้ เพื่อทำให้ถูกต้องได้คุณภาพ เพราะไม่อยากให้ประเทศไทยเสียชื่อเสียงเช่นกัน ไม่ใช่พอครบปีราคายางขึ้น ก็ออกมาพูดครั้งหนึ่ง ก็อดคิดไม่ได้ว่ามีการแย่งชิง มีการกดราคาแบบนี้ไม่ได้”
นายธีระชัยฯ กล่าวอีกว่า การพูดควรจะพูดในนามของสมาคมผู้ประกอบการยางทั้งประเทศ เพื่อที่จะได้รณรงค์ไม่ใช้กรดซัลฟูริกอย่างเต็มที่ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ให้ออกมาประกาศในนามสมาคมฯ จะไม่มีการรับซื้อยางพาราที่ใช้กรดซัลฟิวริก ให้ประกาศออกมาเป็นหนังสือ เกษตรกรจะได้ปรับปรุง และทุกส่วนได้ร่วมกันรณรงค์ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ไม่ใช้กรดซัลฟิวริก
ด้านนายประสิทธิ์ กาญจนา ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเช่นกันว่า ขอให้บริษัทผู้ผลิตยางทั้งสองรายนำผลงานวิจัยออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการใช้กรดซัลฟิวริก การประกาศแบนยางพาราจากภาคอีสานและล้มเลิกแผนการตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท มีผลกระทบด้านจิตวิทยาระยะเวลาสั้น ๆ มองว่าเป็นเกมทางการค้าของกลุ่มพ่อค้ายางพารา แต่ไม่ทำให้ราคายางพาราของภาคอีสานลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะชาวสวนยางในภาคอีสานมีการส่งยางพาราไปขายให้กับพ่อค้าในภาคตะวันออกและภาคใต้เป็นปกติอยู่แล้ว ขณะเดียวกันทางชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี ก็มีโรงงานผลิตยางแท่งแปรรูปส่งไปขายประเทศจีน และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับซื้อจากมาเลเซีย ซึ่งให้ความสนใจซื้อยางจากชุมนุมสหกรณ์ฯ ด้วย
“สวนยางของพี่สาวของผมอยู่ที่ภาคใต้ ต้นยางมีอายุกว่า 30 ปี และใช้กรดซันฟิวริกผสมในการทำยางก้อนถ้วย ก็ยังกรีดน้ำยางได้ตามปกติ ไม่ได้เสื่อมสภาพตามที่มีการกล่าวอ้าง เรื่องค่ายรถยนต์จะไม่รับซื้อยางพาราจากภาคอีสาน เป็นเรื่องได้ยินมา 2 ปีที่แล้ว และไม่รู้ว่าจริงตามข่าวหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงการใช้กรดซันฟิวริกให้ยางจับตัวกันเร็วนั้น มีการใช้มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และปัจจุบันก็ยังใช้กันทั่วทุกภาคในไทย”.-สำนักข่าวไทย