กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – ส.อ.ท.ออกมาตรการเร่งด่วนรับมือ PM 2.5 ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศดูแลกระบวนการผลิตตามแนวทาง Eco Factory เน้นผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตามที่สถานการณ์ปัจจุบันมีฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และส่งผลต่อสุขภาพประชาชนนั้น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 มีสาเหตุหลักมาจาก 4 ส่วนหลัก คือ 1. การเผาชีวมวล พืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย เศษฟางข้าว ข้าวโพด 2.โรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงจำพวกแกลบ เศษไม้ น้ำมันเตา โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่หากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง 3.การคมนาคมทางบก ได้แก่ รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และ 4.การก่อสร้าง ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและต้องการความช่วยเหลือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการดูแลด้านดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ตระหนักถึงการป้องกันและการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีการเฝ้าตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องกระบวนการผลิต เครื่องจักรต่าง ๆ เช่น หม้อไอน้ำ เตาเผา เป็นต้น ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้มีมาตรการดำเนินการในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในส่วนกระบวนการผลิตและกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ
สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน คือ 1.ขอความร่วมมือไปยังสมาชิกดูแลความสะอาดและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น การกองเก็บวัตถุดิบที่จะฟุ้งกระจายได้ การขนส่งวัตถุดิบและสินค้า กิจกรรมการก่อสร้างต่าง ๆ และบริเวณถนนรอบโรงงาน ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จะมีมาตรการกองเก็บวัตถุดิบภายในอาคาร การพรมน้ำเพื่อป้องกันวัตถุดิบฟุ้งกระจาย การใช้รถดูดฝุ่น และการใช้มาตรการล้างล้อ และทำความสะอาดภายในท่อไอเสียของรถบรรทุกขนส่ง ทั้งขาเข้า-ออกนอกโรงงาน 2.ดูแลตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรต่าง ๆ อาทิ เตาเผา boiler เครื่องบำบัดฝุ่น ให้มีประสิทธิภาพ และเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ก๊าซธรรรมชาติ รวมทั้งมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ 3.ตรวจสอบวิเคราะห์ hotspot ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด และ 4.ให้นโยบายการทำงาน work at home รวมทั้งใช้ระบบสื่อสาร online และ E-office เป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบฝุ่นจากการเดินทางและดูแลสุขภาพพนักงาน
ส่วนมาตรการระยะยาว ออกมาตรการดูแลส่งเสริมคู่ธุรกิจให้มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เน้นการส่งเสริมและให้ความรู้กับคู่ธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ชาวไร่อ้อย ข้าว เป็นต้น ผลักดันให้ภาครัฐ มีนโยบายให้ใช้รถไฟฟ้า โดยกำหนดให้รถสาธารณะ เช่น รถเมล์ แท็กซี่สามล้อ รถตู้โดยสารรถสองแถวต้องเป็น EV โดยรัฐบาลลดภาษีนำเข้าและสรรพาสามิตจูงใจ และติดตั้งเครื่องมือวัดค่าฝุ่นขนาดเล็กกับทุกกิจการที่มีอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น
“ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ผลักดันและส่งเสริมให้สมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานตามแนวทาง Eco Factory ซึ่งเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษของทางภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” นายสุพันธุ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย