กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – กรมทางหลวงลุ้น ครม.อนุมัติค่าเวนคืนเพิ่ม 8,000 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ เส้นบางใหญ่ -กาญจนบุรี หลังทำโครงการสะดุดล่าช้าประมาณ 1 ปี
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงเตรียมเร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณจ่ายชดเชยการเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เพิ่มเติมจากวงเงินเดิมอีก 8,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินการจ่ายเงินชดเชยทั้งโครงการ 17,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหาวงเงินการจ่ายเงินชดเชย ทำให้โครงการล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปี
ทั้งนี้ อธิบดีกรมทางหลวงยืนยันว่าการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวครอบคลุมที่ดิน 4,000 แปลง ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงเจรจาเพื่อจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 1,000 แปลง เมื่อมีการจ่ายเงินชดเชยเรียบร้อย กรมทางหลวงมั่นใจว่าจะสามารถเร่งรัดให้โครงการก่อสร้างเสร็จตามแผนภายในปี 2565-2566
ขณะที่โครงการมอเตอร์ดังกล่าว มีรูปแบบการลงทุนแบบ PPP โดยดึงเอกชนเข้าร่วมโครงการก่อสร้างรัฐยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ปัจจุบันยืนยันว่ามีผู้ประกอบการเอกชน ผู้ลงทุน จากหลายประเทศ ให้ความสนใจร่วมลงทุน
ส่วนที่มีผู้สงสัยว่าทำไมกรมทางหลวงต้องให้เอกชนรับสัมปทานเป็นผู้เก็บค่าผ่านทางโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ทั้งที่สามารถดำเนินการเองได้ อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงว่า หลักการของรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ PPP Gross Cost ตามมติคณะรัฐมนตรี 22 สิงหาคม 2560 โดยเอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาของโครงการทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งเอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด และมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ
นอกจากนี้ เอกชนยังต้องดำเนินการออกแบบและก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวของ พร้อมจัดหาเงินทุน โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง, ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งในส่วนงานของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานระบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน, เอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเพื่อนำส่งรายได้ทั้งหมดให้แก่ภาครัฐและเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุของสัญญา
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวด้วยว่า จากผลการศึกษาฯ พบว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ รูปแบบ PPP Gross Cost มีต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐต่ำกว่ารูปแบบรัฐดำเนินการเอง (PSC) เมื่อเปรียบเทียบตามหลักการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของเงินรัฐสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงในเรื่องการก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและค่าบำรุงรักษาตลอดระยะเวลา 30 ปี ไปให้เอกชนผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากการดำเนินงานและบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนภายใต้เงื่อนไขสัญญาที่กำหนดเกณฑ์คุณภาพการให้บริการ ในด้านต่าง ๆ เช่น การระบายจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง การช่วยเหลือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ความเรียบของผิวถนน ความชัดเจนของเส้นจราจร การซ่อมแซมดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว ลดภาระรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงลดภาระการบริหารจัดการด้านบุคลากร โดยปัจจุบันมอเตอร์เวย์ 2 สายทางปัจจุบันระยะทาง 204 กม. (M7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี – พัทยา และ M9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) ต้องใช้ลูกจ้างปฏิบัติงานมากว่า 2,200 อัตรา).-สำนักข่าวไทย