สำนักข่าวไทย 30 ม.ค.- เช้าวันพรุ่งนี้ กทม.ยกเลิกภารกิจพ่นของเหลวจากโมลาสหรือกากน้ำตาล จะใช้เพียงน้ำเปล่า เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
จากกรณีผู้ว่าฯ กทม.แถลงเตรียมใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาลดฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยจะร่วมกับชมรมโดรน ของจังหวัดนครราชสีมา นำโดรนขนาดเล็ก50 ตัว พร้อมคนบังคับ 50 คน ที่สามารถบรรทุกน้ำได้ตัวละ10 ลิตรมาพ่นเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง โดยน้ำที่จะนำมาใช้ในการลดปัญหาฝุ่นละออง จะใช้โมลาสหรือกากน้ำตาล ที่สามารถจับค่าฝุ่นละอองได้ดีกว่านั้น
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากที่มีการพูดคุยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทีมงานเอกชนจากจังหวัดนครราชสีมาที่จะมาช่วยบินโดรนในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) สรุปจะยกเลิกการพ่นของเหลวจากโมลาส โดยจะใช้น้ำเปล่าแทนแม้ว่าจะมีการระบุคุณสมบัติว่าโมลาส สามารถจับฝุ่นละอองในอากาศได้ดีกว่าก็ตาม เนื่องจากลักษณะการบินโปรยละอองโมลาสจะต้องบินในพื้นที่ต่ำจึงจะได้ผลแต่ด้วยสภาพอากาศฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างสูงจึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างบวกกับจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีผลงานการวิจัยจากหน่วยงานใดว่า โมลาสสามารถจับฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ได้จึงสรุปยกเลิกการใช้โมลาสโดยจะใช้น้ำเปล่าแทน
สำหรับภารกิจการบินโดรนจะยังมีตามปกติ ในวันพรุ่งนี้ 31 มกราคม และศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยวันแรกพรุ่งนี้นัดหมายเริ่มเวลา 08.00 น.ที่ลานคนเมืองเพื่อกำหนดจุดว่าทีมไหนจะบินไปที่จุดใด โดยในเบื้องต้นแจ้งฐานการบินโดรนไว้ 6 จุด ประกอบด้วย จุด 1 ลานคนเมือง จุด 2 วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน) จุด 3 ฐานบิน ม.เกษตร จุด 4 ฐานบินสวนจตุจักร (บินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว) จุด 5 ฐานบินสวนลุมพินี (บินบริเวณพระราชานุสาวรีย์ ร.6 และถนนพระราม 4) จุดที่ 6 ฐานบินสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร เขตบางคอแหลม
ส่วนวิธีการการฉีดพ่นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือบนสุด โดรนจะบินบรรทุกน้ำได้ประมาณ 10 ลิตร ขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำ ระยะบิน จะบินประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งโดรนจะบินได้นานประมาณ 20 นาที ก่อนจะลงมาเปลี่ยนแบตเตอรี่ และเติมน้ำ
ระดับที่ 2 รถน้ำจากสำนักสิ่งแวดล้อมและ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะฉีดละอองฝอยขึ้นไป และระดับที่ 3 ทีมเจ้าหน้าที่จากเขต จะกวาดและล้าง ทำความสะอาดตามอีกที .-สำนักข่าวไทย