กลุ่มผู้ค้าน 4 โครงการแก้ไขปัญหาน้ำยืนยันต้องยุติการสร้าง

กรุงเทพฯ 26 ม.ค.-เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุงที่ชุมนุมด้านหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน-คลองผันน้ำ-ประตูกั้นน้ำ 4 แห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง


นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้แทนเครือข่ายเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) ได้ยื่นหนังสือเพื่อรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน-คลองผันน้ำ-ประตูกั้นน้ำ 4 แห่งในทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุงคือ โครงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ และนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมรับฟังข้อร้องเรียนและรับหนังสือขอให้เรียกร้องให้ยุติทั้ง 4 โครงการ ซึ่งนายมีศักดิ์ได้รับหนังสือร้องเรียนไป โดยระบุว่าจะนำไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รองอธิบดีกรมชลประทานยังคงยืนยันว่า จำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อไป แต่พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการปรับรายละเอียดโครงการก่อสร้าง โดยไม่ได้ชี้แจงถึงข้อมูลผลการสำรวจพื้นที่และข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนผลการศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อชาวบ้านแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านที่เดินทางมาชุมนุม ยืนยันว่ารัฐต้องระงับการดำเนินโครงการก่อน ชาวบ้านจึงจะร่วมหารือแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ โดยจะให้เวลาถึงช่วงบ่ายวันนี้ (26 ม.ค.) หากยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการเช่นเดิม จะยกระดับการเคลื่อนไหว โดยในวันนี้และพรุ่งนี้ (27 ม.ค.) จะมีชาวบ้านเดินทางมาสมทบ


นายประสิทธิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้จะรอฟังคำชี้แจงจากกรมชลประทาน ตามที่ได้ส่งหนังสือเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน-คลองผันน้ำ-ประตูกั้นน้ำ 4 แห่งในทั้ง 2 จังหวัด และทางเครือข่ายฯ มองว่า การยื่นฟ้องศาลปกครองอาจได้เพียงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับโครงการ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ให้ครม. มีมติยกเลิกโครงการโครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง  จ.พัทลุงและโครงการคลองผันน้ำเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราชซึ่งครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อนหน้านี้ ส่วนโครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราชและโครงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุงซึ่งยังไม่มีมติครม. ดังนั้นกรมชลประทานสมควรทำหนังสือยุติโครงการทันที

ทั้งนี้ทางเครือข่ายเห็นว่า ปัญหาอุทกภัยซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในใช้อ้างอิงในการดำเนินโครงการนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ เมื่อมีฝนตกหนัก แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ซึ่งเป็นที่ลาด อีกทั้งมีทางออกสู่ทะเล ไม่ได้ทำให้น้ำท่วมขังนาน ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้งบประมาณมหาศาลทำเขื่อนหรือโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจากข้อมูล ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำโดยไม่ต้องใช้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ได้ แล้วหันไปแก้ปัญหาโดยจัดผังเมือง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเช่น สะพานหรือถนนที่ขวางทางระบายน้ำออกสู่ทะเล ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน และในเวลา 10.00 น. เครือข่ายจะประกาศแถลงการณ์การณ์เรียกร้องให้ยุติทั้ง 4 โครงการ

นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง กล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง  จ.พัทลุงซึ่งครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการนั้น ได้เดินทางมาเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้ยุติโครงการดังกล่าวเนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัตินั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  โครงการที่ออกมาโดยระบุว่า เพื่อสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น ปัจจุบันสภาพพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป เดิมประชาชนประกอบอาชีพทำนา แล้วประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจึงมีผู้ทำหนังสือถึงหน่วยงานรัฐให้ช่วยเหลือ แต่จนถึงปัจจุบัน ผืนนากลายเป็นสวนยางพาราหมดแล้ว ไม่ได้ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอเหมือนในอดีต ส่วนวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้นสืบเนื่องจากในปี 2531 มีน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอพิปูนและกะทูน แต่ที่ระบุว่า จำเป็นต้องสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองทุ่งสงนั้น ชาวบ้านเห็นว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเนื่องจากคลองวังหีบห่างจากตัวเมืองทุ่งสง 4 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีเนินกั้นระหว่างเมืองทุ่งสงกับคลองวังหีบ น้ำจึงไม่สามารถไปท่วมเมืองทุ่งสงได้ สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตน้ำประปา ข้อเท็จจริงนั้น สำหรับการทำน้ำประปานั้นปัจจุบันใช้น้ำอีก 2 สายเกินพอสำหรับทำน้ำประปา พื้นที่ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ ห่างจากเมืองทุ่งสง 17 กิโลเมตร ความจุ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณก่อสร้าง 2,300 ล้านบาท ชาวบ้านประเมินค่าลงทุนสำหรับผลิตน้ำประปาอยู่ที่ 115 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่คุ้มค่าแน่นอน  อีกทั้งพื้นที่วังหีบมีผืนป่าต้นน้ำชั้น 1 A ซึ่งมีเหลือน้อยมากในประเทศไทย  หากก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำลายผืนป่า ชาวบ้านจึงคัดค้านอย่างเต็มที่  ทั้งนี้รอคำชี้แจงจากทั้งกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินโครงการและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบแผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ในวันจันทร์นี้(28 ม.ค.)กลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนย้ายจากหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้ยุติโครงการทั้งหมด


 นายเจกะพันธ์ ยังกล่าวถึงแถลงการณ์ของนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. ซึ่งชี้แจงแนวทางบริหารจัดการน้ำภาคใต้นำเสนอต่อเครือข่ายฯ ว่า ทางเครือข่ายฯ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง  จ.พัทลุงอ่านแล้วเห็นว่า สทนช. ซึ่งทำหน้าที่วางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศนั้น มีแนวทางชัดเจนที่จะทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งครม. อนุมัติให้ดำเนินโครงการในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ฝั่งอ่าวไทยได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ส่วนฝั่งอันดามันได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล นอกจากนี้ยังพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ติดกับอำเภอวังหีบ โดยเฉพาะข้อความในช่วงท้ายของแถลงการณ์ที่ระบุว่า หน่วยงานต่างๆ ต้องดำเนินการขับเคลื่อนโครงการตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ทุกขั้นตอน แสดงว่า สทนช. ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นหรือพิจารณาถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ที่จะต้องโยกย้ายถิ่นฐานจากการทำโครงการดังกล่าว รวมถึงไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำชั้น 1 A ในอำเภอวังหีบ

ในระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยในกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมทั้งทำเฟซบุ๊กไลฟ์เพื่อชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่และผู้สนใจให้รับทราบถึงเหตุผลที่เรียกร้องให้ยุติโครงการ ซึ่งมีสาระสำคัญตามหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี คือ โครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.พัทลุง ที่ระบุว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองทุ่งสง เพื่อการผลิตน้ำประปา เพื่อการเกษตร แต่ข้อเท็จจริงนั้น คลองวังหีบไม่ได้ผ่านเมืองทุ่งสง สำหรับการทำน้ำประปานั้น ปัจจุบันใช้น้ำอีก 2 สายเชื่อว่ามีปริมาณน้ำเกินพอสำหรับทำน้ำประปา และสำหรับการปลูกพืชได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปหมดแล้ว จึงขอให้ศึกษาแนวทางอื่นสำหรับการแก้ปัญหา โดยไม่กระทบต่อชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศ การสร้างเขื่อนไม่ได้ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม/น้ำแล้ง ส่วนการแก้ปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร สามารถออกแบบระบบชลประทานขนาดเล็กโดยไม่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสายน้ำเดิม

โครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ที่รัฐระบุว่าเพื่อการป้องกันน้ำท่วมอำเภอทุ่งใหญ่ และเพื่อการเกษตร เป็นเหตุผลเดียวกันกับการสร้างเขื่อนวังหีบ โดยจะสร้างเขื่อน เป็นการแก้ปัญหาที่ละเลยต้นเหตุ 

โครงการคลองผันน้ำเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช ที่ระบุว่า เพื่อการป้องกันน้ำท่วมเมืองนคร โดยแท้ที่จริงแล้วสาเหตุหลักของน้ำท่วมเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช เกิดจากการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ การสร้างถนนขวางทางน้ำ การวางระบบผังเมืองผิดพลาด เป็นต้น กลุ่มผู้คัดค้านเห็นว่า การสร้างคลองผันน้ำแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อย แต่ใช้งบประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่ต้องไล่รื้อเวนคืนที่ดิน ทำให้คนไร้ที่อยู่ พรากคนจากแผ่นดินเกิด จำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จึงขอให้แก้ไขถนนที่ขวางทางน้ำ แก้ไขระบบระบายน้ำ ปรับปรุงขุดลอกคลองในเมืองให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ปรับปรุงท่อระบายน้ำ เข้มงวดกับการก่อสร้างที่นำไปสู่การขวางทางน้ำ

ส่วนโครงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุง ที่ ระบุว่าเพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่คลองปากประ โดยข้อเท็จจริงนั้น ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาเพียงครั้งเดียวและไม่ได้ก่อความเดือดร้อนขั้นร้ายแรงต่อประชาชน  การสร้างประตูกั้นน้ำ จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ 3 แหล่ง จึงขอให้ยกเลิกโครงการ

ในที่ชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านยังระบุถึง บทบาทของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งปัจจุบันมีหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดของประเทศ โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เป็นเลขาธิการฯ กำกับดูแลโดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 61 ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช รวมทั้งเป็นสักขีพยานในการมอบค่าชดเชยที่ดินให้แก่ชาวบ้าน 9 รายที่สละที่ดินให้การก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า 

ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลและเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ต้องมารับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้คัดค้าน รวมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิต  ฉะนั้นในวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 62 จะแบ่งกลุ่มเดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ สทนช.เพื่อชี้แจงว่า ทางเลือกการจัดการน้ำที่ไม่ทำลายระบบนิเวศและชีวิตของประชาชนยังมีอีกมากมายหลายทาง หากรัฐบาลสนใจประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างทางเลือกการจัดการน้ำที่ดีที่สุด โดยไม่ใช้วิธีคิดเดียวคือการสร้างเขื่อน ขุดคลอง ที่ก่อเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ อย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการทั้ง 4 โครงการ และออกแบบการแก้ปัญหาใหม่ตามข้อเสนอแนะของภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐบาล ไม่ทำร้ายประชาชน และเป็นการรักษาระบบนิเวศที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดให้อยู่คู่กับแผ่นดินต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุงได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์การชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ตามที่เครือข่ายฯได้มาปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 มค.62 โดยมีเครือข่ายเข้าร่วม 4 พื้นที่ กว่า 200 คน เมื่อวานเดินขบวนมาจากหัวลำโพง จากนั้นเข้าพบเจรจากับนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตร และรองอธิบดีกรมชลประทานอีก 2 คน ผลการหารือปรากฏว่า ที่ประชุมไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของเครือข่ายมากนัก โดยระบุโครงการทั้ง 4 โครงการจัดทำขึ้นจากความเดือดร้อนประชาชน ทำตามรัฐธรรมนูญและระเบียบราชการ อีกทั้งยังให้หน่วยงานในสังกัดและจังหวัดเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และแนะนำให้ประชาชนฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ทางเครือข่ายฯ ขอย้ำว่า จากนี้เป็นต้นไปจะไม่เจรจากับกรมชลประทานอีก และนับจากนี้ไปการดำเนินการใดๆ ของกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรฯ นั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ

ผู้ประสานงานเครือข่ายระบุว่า ท่าทีของภาครัฐที่มีต่อชาวบ้านเป็นท่าทีที่เปรียบได้ว่า เป็นการดับเครื่องชน ทั้งนี้ในวันอาทิตย์ที่ 27 มค.62 ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องต่อประชาชนทั่วประเทศได้ออกมาร่วมปกป้อง ดินน้ำป่า กับทางเครือข่าย เพราะมีเพียงอำนาจประชาชนเท่านั้น ที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ โดยขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม รวมพลคนรักดินน้ำป่า ประเทศไทย ครั้งที่ 1 หน้าสำนักงาน สปก.ในวันพรุ่งนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป สำหรับการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป อยู่ระหว่างเตรียมการณ์ และในวันพรุ่งนี้จะมีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากทั้ง 2 จังหวัดมาสมทบ-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ทักษิณเหยียดผิว

“อังคณา” จี้ “ทักษิณ” ขอโทษ หลังปราศรัยเหยียดสีผิว-เชื้อชาติชาวแอฟริกัน

“อังคณา” จี้ “ทักษิณ” ขอโทษ หลังปราศรัยเหยียดสีผิว-เชื้อชาติชาวแอฟริกัน ชี้เสี่ยงทำประเทศไทยถูกนานาชาติตั้งคำถาม ขัดหลักการสิทธิมนุษยชน

ข่าวแนะนำ

พระราชพิธีสมมงคล

นายกฯ เชิญชวนประชาชนร่วมงาน “พระราชพิธีสมมงคล” 14 ม.ค.นี้

นายกฯ เชิญชวนประชาชนร่วมงาน “พระราชพิธีสมมงคล” 14 ม.ค.นี้ ทั่วประเทศ พร้อมเลื่อนประชุม ครม. สัปดาห์หน้า เป็นวันจันทร์ที่ 13 ม.ค. แทน

ซิงซิงดาราจีน

นายกฯ เผยเจอ “ซิงซิง” แล้ว ตำรวจภูธร​ภาค 6 รอรับอยู่ที่แม่สอด

นายกฯ เผยเจอ “ซิงซิง” นักแสดงจีนแล้ว ตำรวจภูธร​ภาค 6 รอรับอยู่ที่แม่สอด สั่ง “ดีอี” ดูข่าวลือ ไม่ให้กระทบภาพลักษณ์ไทย หลังโซเชียล​โหมกระแสเมืองไทยน่ากลัว พร้อมประสานทูตจีนเข้มข้น หลังคนจีนเข้ามาใช้พื้นที่ไทยก่อเหตุ รับฟังข้อเสนอฝ่ายค้านจัดโซนนิ่งฟรีวีซ่าจีน