กรุงเทพฯ 26 ม.ค.-รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งการด่วนที่สุดให้ปลัดกระทรวงฯ และกรมชลประทานเร่งชี้แจงข้อมูล 4 โครงการแก้ปัญหาน้ำที่นครศรีธรรมราชและพัทลุงให้กลุ่มผู้คัดค้าน ระบุ โครงการต่างๆ เกิดจากความต้องการของประชาชน และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ
จากกรณีมีกลุ่มประชาชนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง คัดค้านโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งรวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดรวม 4 โครงการ โดยได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายกรัฐมนตรี และส่งตัวแทนกลุ่มไปชี้แจงข้อมูลเหตุผลการคัดค้านโครงการผ่านทางสถานีโทรทัศน์ระหว่างรอคำตอบจากหน่วยราชการด้วยนั้น นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด(อพก.) ชี้แจงผู้คัดค้านให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดทำโครงการทั้ง 4 แห่ง เกี่ยวกับที่มาหรือต้นเรื่องของการจัดทำโครงการว่า เกิดจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง และได้ร้องเรียนขอให้ทางราชการแก้ไขปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นโครงการทั้ง 4 แห่งจึงไม่ใช่โครงการที่กรมชลประทานริเริ่มขึ้นมาเองหรือจัดทำฝ่ายเดียวอย่างไม่มีเหตุผลและความจำเป็นแต่อย่างใด
โครงการทั้ง 4 แห่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือ การลงไปสำรวจบริเวณพื้นที่โครงการให้ชัดเจนก่อนเพื่อนำข้อมูลพื้นที่จริงมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาที่ได้ทำไว้แล้ว หากผลการสำรวจพื้นที่จริงมีปัญหาที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนจะได้ปรับแก้ไข ก่อนลงมือดำเนินการก่อสร้างจริงเช่น การปรับเปลี่ยนบริเวณก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศจริง การลดหรือเพิ่มพื้นที่ก่อสร้างเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการให้มากที่สุด หากประชาชนรายใดหรือกลุ่มใดมีข้อมูลที่ต้องการให้กรมชลประทานรับไปแก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนกระทั่งการระงับโครงการสามารถยื่นข้อมูลมาได้เพื่อกรมชลประทานจะได้นำมาพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยโครงการชลประทานและอพก.ทั้ง 2 จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งในพื้นที่ อีกทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจรับทราบการทำงานของหน่วยราชการต่างๆ ว่าดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วทุกประการ แต่หากประชาชนยังเห็นว่าการดำเนินการของหน่วยราชการนั้นผิดหรือขัดกับกฎหมาย ตลอดจนระเบียบราชการสามารถยื่นคำคัดค้านต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งหากเห็นว่า จากการกรมชลประทานลงไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ ประชาชนผู้คัดค้านสามารถยื่นคำขอต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการของกรมชลประทานไว้ก่อนในระหว่างพิจารณาคดีได้
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะมีผลให้ยุติงานทุกอย่างระหว่างพิจารณาคดีแล้ว ศาลปกครองจะไต่สวนต่อไปเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า กรมชลประทานทำถูกต้องตามกฎหมายและหรือระเบียบราชการหรือไม่ ถ้าผลการไต่สวนปรากฎว่า กรมชลประทานทำไม่ถูกต้อง ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้แก้ไขหรือยกเลิกโครงการได้ ดังที่รัฐบาลสมัยหนึ่งจะแปรรูปกฟผ. จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน เมื่อมีการฟ้องร้องศาลปกครอง แม้จะมีการอ้างต่อศาลว่า ได้ทำทุกกระบวนการครบถ้วนตามกฎหมาย แต่ศาลได้ไต่สวนแล้วพบว่า การทำประชาพิจารณ์กรณีดังกล่าว ทำอย่างไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งเพิกถอนการแปรรูปกฟผ. เนื่องจากทำไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งทำให้จนบัดนี้กฟผ. ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ ดังนั้นกลุ่มผู้คัดค้านต้องการให้ยุติทั้ง 4 โครงการ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ แล้วระหว่างที่งานทุกอย่างยุติระหว่างพิจารณาคดี พร้อมจะให้ผู้คัดค้านและประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมสำรวจข้อมูลทุกด้านกับกรมชลประทาน ทั้งมิติของระบบนิเวศ วิถีชุมชน แนวทางการแก้ปัญหา หากพบว่า ประเด็นใดขัดกฎหมายหรือไม่ถูกต้องเหมาะสม สามารถชี้ให้ภาครัฐแก้ไขได้ทันที
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการที่ผ่านมา เป็นไปตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในทั้ง 2 จังหวัด ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อมีประชาชนส่วนหนึ่งคัดค้าน ได้มอบหมายให้ทั้งรองอธิบดี ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งโครงการชลประทานในพื้นที่เข้าไปรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจถึงที่มาของการจัดทำโครงการว่า ไม่ได้มาจากการริเริ่มของกรมชลประทาน แต่มาจากข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ ทั้งนี้ยืนยันว่า การดำเนินการทั้ง 4 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นสำรวจพื้นที่โครงการให้ชัดเจนก่อน แล้วจะนำข้อมูลโดยละเอียดมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาที่ได้ทำไว้แล้ว หากผลการสำรวจพื้นที่จริงมีปัญหาใดจะได้แก้ไขต่อไป ได้แก่ การปรับเปลี่ยนบริเวณก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศจริง การลดหรือเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการมากที่สุด ขณะนี้ กำลังรวบรวมผลการสำรวจพื้นที่ ผลการศึกษาทางวิชาการ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมายครบถ้วนเพื่อชี้แจงตามที่กลุ่มผู้คัดค้านมีข้อสงสัยตามหนังสือที่ส่งถึงรัฐมนตรีเกษตรฯ และนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันทุกฝ่ายภายในวันนี้(26 ม.ค.)-สำนักข่าวไทย