กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ (Turnaround) ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 พร้อมตั้งเป้าหมายจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ 10,000 รายนั้น สสว.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ดำเนินโครงการ สรุปได้ว่า มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการ 13,600 ราย ผ่านคุณสมบัติได้รับการคัดเลือกเพื่อรับคำปรึกษาแนะนำ 12,816 ราย เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 ราย ในจำนวนนี้เป็น บุคคลธรรมดา 5,000 ราย และเป็นนิติบุคคล 5,000 ราย
ทั้งนี้ เฉพาะนิติบุคคลผู้เชี่ยวชาญจาก มทร. ธัญบุรี วิเคราะห์เชิงลึกพบว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไป 4,000 ราย สสว.ช่วยประสานให้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม 2,000 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวมีคุณสมบัติที่จะยื่นขอกู้จากเงินทุนพลิกฟื้นของ สสว.ซึ่งมีวงเงิน 1,000 ล้านบาท ไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนประกอบกิจการ แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้เดิม คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้เดือนกันยานนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะกู้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ส่วนกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี วงเงินเริ่มต้น 2,000 ล้านบาท จะเปิดตัวเดือนตุลาคมนี้ ทั้ง 2 กองทุนมีวงเงินรวมกัน 3,000 ล้านบาท เบื้องต้นประเมินว่าเมื่อผู้ประกอบการได้รับเงินไปจะสามารถแก้ไขปัญหากิจการและลดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภาพรวมตั้งแต่ 10,000-30,000 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลอีก 1,000 ราย และผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาอีก 5,000 ราย มีข้อจำกัดทางด้านศักยภาพ สสว.จะจัดโปรแกรมกิจกรรมเสริมศักยภาพการอบรมสัมมนา เช่น การจัดทำเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปและการให้คำแนะนำทางด้านการตลาดและการบริหารจัดการ
สำหรับปัญหาของผู้ประกอบการแบ่งเป็น 3 เรื่องสำคัญ คือ ยอดขายลดลง เพราะขาดช่องทางการจำหน่าย ขาดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคนิคต่าง ๆ และขาดสภาพคล่องถูกเร่งรัดหนี้สินจากธนาคาร ซึ่ง สสว.และ มทร. ธัญบุรีจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งเป็น 4 แนวทาง คือ แนวทางแรกประสานงานเพิ่มช่องทางในการขาย โดยจัดงาน expo งานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์โดยให้เข้าขายใน E market place ซึ่งกำลังได้รับความนิยม แนวทางที่ 2 คือ การหาทางลดต้นทุนโดยให้ความรู้ด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีและการบริหารจัดการ
แนวทางที่ 3 ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเทคนิคต่าง ๆ โดยที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยห้องปฏิบัติการเป็นภาคีจะช่วยพัฒนาตรวจสอบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้านต่าง ๆ รวมถึงการจัดอบรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับรองมาตรฐาน การให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาด Digital Marketing ในการสร้าง Brand การวินิจฉัยและให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อปรับกลุ่มธุรกิจให้ความรู้กรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากิจการ SME Turnaround และแนวทางที่ 4 เพิ่มสภาพคล่องเพื่อปรับปรุงกิจการและเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตโดยยื่นขอกู้เงินทุนพลิกฟื้นของ สสว.ขณะนี้นายกรัฐมนตรีลงนามอนุมัติระเบียบหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินเรียบร้อยแล้ว สสว.จะจัดตั้งคณะทำงานกลั่นกรองสินเชื่อโดยมอบให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นหน่วยร่วมทำหน้าที่ด้านสินเชื่อและติดตามดูแลลูกหนี้.- สำนักข่าวไทย