กรุงเทพฯ 23 ม.ค.- ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐออกสารพัดมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะการตรวจจับรถควันดำต้นตอของปัญหา ถึงขั้นขอความร่วมข้าราชการงดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือกระทั่งงดจุดธูป มาตรการเหล่านี้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด ติดตามจากรายงาน
ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โลกโซเชียลแห่โพสต์คลิปเจอรถเมล์ปล่อยควันดำฟุ้งกระจายบนท้องถนน ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงขั้นตอนการตรวจสภาพรถว่าได้มาตรฐานหรือไม่ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ กรมการขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะต้องนำรถเข้ามาตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง โดยวัดค่าเขม่าควันต้องไม่เกิน 45% ตามกฎหมายกำหนด ยืนยันหากพบรถควันดำเกินค่ามาตรฐาน มีโทษปรับ 1,000 บาท และห้ามใช้รถจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไข
การเข้มงวดกับมาตรการตรวจจับควันดำ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีมองว่า ควรเป็นมาตรการที่ปฏิบัติต่อเนื่อง เพราะสาเหตุหลักของปัญหา PM2.5 เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซลที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ขณะที่มาตรการขอความร่วมมือข้าราชการงดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนั้น เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะส่วนหนึ่งใช้รถยนต์เบนซิน
ปัญหา PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานอยู่ขณะนี้ นอกจากการตรวจจับควันดำที่เข้มงวดแล้ว มูลนิธิร่วมกตัญญูยังขอความร่วมมือประชาชนงดจุดธูป เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ป้ายประกาศระบุข้อความขอความร่วมมือผู้ที่เข้ามาทำบุญโลงศพภายในวัดหัวลำโพง งดจุดธูป ถูกนำมาติดไว้ตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้บางคนจะไม่คุ้นชิน แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยมือเปล่า
แม้การงดจุดธูป ไม่ช่วยลดค่าฝุ่นพิษโดยตรง แต่การเผาไหม้ลักษณะนี้ก่อให้เกิดค่ามลพิษอีกชนิดหนึ่ง คือ PM10 ซึ่งเป็น 1 ใน 6 สารมลพิษทางอากาศที่นำมาคำนวณเป็นดัชนีคุณภาพอากาศ
มลพิษทางอากาศเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ที่คนกรุงกำลังเผชิญ ทำให้ทุกภาคส่วนพร้อมใจกันร่วมลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งล่าสุดสถานการณ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือที่ต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย