กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – กรมศุลกากรพบข้อสงสัยรถเมล์เอ็นจีวี อาจไม่ได้ผลิตในมาเลเซีย พบเอกสารนำเข้าจากจีน หากบริษัทเอกชนแจงข้อสังสัย วางแบงก์การันตีตามมูลค่ารถนำรถออกไปวิ่งให้บริการได้
นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า การสำแดงนำเข้ารถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลังจากบริษัท เบสทริน กรุ๊ป จำกัด ผู้ชนะการประมูลรถเมล์ และได้มอบหมายให้บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า เป็นผู้แทนนำเข้าและยื่นสำแดงสินค้านำเข้ารถโดยสารเอ็นจีวี 2 ล็อต ครั้งแรกนำเข้า 1 คัน เอกสารส่งออกรถเมล์เอ็นจีวีจากประเทศจีนวันที่ 28 ตุลาคม และส่งมายังประเทศมาเลเซียวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 จากนั้นส่งรถยนต์สำเร็จรูปทั้งคันมายังท่าเรือแหลมฉบังวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 โดยเป็นเอกสารตู้คอนเทนเนอร์จากจีนและมาเลเซียเป็นหมายเลขเดียวกันกับที่ส่งมาไทย จึงเข้าข่ายการหลีกเลี่ยงอากรนำเข้า
หลังจากนั้นได้ส่งรถเมล์ครั้งที่ 2 จำนวน 99 คัน และนำเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เรียบร้อยแล้ว แต่พิธีการทางศุลกากรมีข้อสงสัยพบเส้นทางนำเข้าลักษณะเดียวกัน จึงไม่อนุญาตให้นำรถออกจากท่าเรือ เนื่องจากมีการส่งออกจากจีนมายังมาเลเซียและส่งต่อมาไทย หวังขอรับสิทธิ์จากเอกสาร From D เป็นหนังสือรับรองที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากร เพื่อยกเว้นภาษีเมื่อมีถิ่นกำเนิดการผลิตจากอาเซียน จึงตั้งข้อสงสัยว่ารถเมล์ดังกล่าวอาจไม่ได้ผลิตในมาเลเซียตามสิทธิ์ที่ควรได้รับการยกเว้นภาษี เพราะรถยนต์ยื่นขอสิทธิ์ยกเว้นภาษีถิ่นกำเนิดในอาเซียนต้องใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนเกินร้อยละ 40 ของการผลิตรถทั้งคัน
นายชัยยุทธ กล่าวว่า กรมศุลกากรจึงประสานไปยังมาเลเซียและจีน เพื่อสอบถามความถูกต้องทางเอกสารและต้องเดินทางไปมาเลเซียเพื่อตรวจสอบว่าโรงงานที่มาเลเซียผลิตรถยนต์ดังกล่าวจริง การสำแดงสินค้ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าว 100 คัน จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเสร็จแล้ว หากตรวจพบว่ามีความผิดจริงต้องดำเนินคดีหลีกเลี่ยงภาษี โดยต้องจ่ายอากรนำเข้าร้อยละ 40 มูลค่ารถ 1.2 ล้านบาทต่อคัน เมื่อรวมรถ 100 คัน เป็นเงิน 120 ล้านบาท และยังต้องจ่ายค่าปรับ 2 เท่าจากคดีการหลีกเลี่ยงภาษี กรมศุลกากรคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนจะทำการตรวจสอบเสร็จ แต่หากภาคเอกชนผู้นำเข้าต้องการนำรถเมล์ออกไปวิ่งบริการตามสัญญากับ ขสมก.สามารถทำได้ แต่ต้องวางแบงก์การันตีตามมูลค่ารถรวมกันทั้งหมดมากกว่าพันล้านบาท
หลังจากบริษัทเอกชนผู้นำเข้าระบุว่าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังอ้างเหตุมีข้อสงสัยในเรื่องเอกสาร From D ออกให้โดยกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซีย ดังนั้น เพื่อรอการตรวจสอบให้ชัดเจน และเพื่อให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่า ออกเอกสารรับรองว่ารถโดยสารดังกล่าวนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้บริษัทเอกชนผู้นำเข้าเสียหาย เนื่องจากต้องจ่ายค่าจอดรถให้ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มวันละ 300,000 บาท โดยกังวลว่าจะนำรถเมล์ออกไปวิ่งให้บริการไม่ทันตามกำหนดวันที่ 22 ธันวาคม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
สำหรับหนังสือ From D เป็นหนังสือรับรองที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากร Common Effective Preferential Tariff (CEPT) เป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรร้อยละ 0 สำหรับสินค้านำเข้าระหว่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) เพื่อใช้หนังสือดังกล่าวสำหรับยืนยันว่าสินค้าของผู้ประกอบการมีแหล่งกำเนิดสินค้า โดยผลิตมาจากวัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด เพื่อขอรับการลดภาษี ณ ศุลกากรปลายทาง.-สำนักข่าวไทย