กทม. 11 ม.ค. – แม้ตอนนี้จะเจอน้องอายุ 14 ปี ที่หนีออกจากบ้านแล้ว แต่นอกเหนือจากสาเหตุเกิดจากอะไรที่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้คนในสังคมไม่ใช่แค่เสพข่าวเท่านั้น ควรเรียนรู้จากสิ่งที่เกิด เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอยเดิม
ใจหายใจคว่ำไปหลายวัน หลังพ่อแม่สาวน้อยวัย 14 ปี เฝ้าย้ำตามหาหลังดวงใจหายออกจากบ้านไปนานเกือบครึ่งเดือน สุดท้ายก็ตามจนเจอ ส่วนข้อเท็จจริงว่าใครทำอะไรที่ไหน อย่างไร คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิสูจน์ แต่สิ่งที่อาจจะอันตรายกว่าความจริงอันโหดร้ายที่เด็กหญิง รวมทั้งชายวัยกลางคน ลามไปถึงครอบครัวทั้งสองต้องเผชิญก็คือ ประชาชนคนวงนอกที่คอยเฝ้าติดตามข่าวสาร โดยข้อมูลที่มีเพียงน้อยนิดแล้วก็ออกความคิด ใช้คำพูดแต่งตั้งตัวเองเป็นศาล วิจารณ์กันสนุกปากผ่านคีย์บอร์ดบนโลกโซเซียล โดยอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองสนุกอาจไปทำลายชีวิตใครอีกหลายคน
อธิบดีกรมเด็กและเยาวชนวอนสังคม การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็กในระยะยาว จึงขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว
เรื่องนี้สนุกปากก็จริง แต่จิตแพทย์ชี้สังคมควรนำมาใช้เป็นบทเรียน ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป รอเรื่องใหม่ซ้ำเดิม ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะเรื่องเดิมๆ ที่ย้ำแล้วย้ำอีก คือ เด็กวัยรุ่นมักมีต่อต้านพ่อแม่ จิตใจขาดความยั้งคิด และบทเรียนสำคัญในเรื่องนี้คือ เหตุใดที่เด็กไปไว้ใจคนนอก ก็ต้องไปหาจุดอ่อน รวมทั้งสอนไว้วางใจคนใกล้ตัว
ขณะที่โรงเรียนต้นสังกัดของเด็กหญิง เผยพร้อมดูแลเรื่องการเรียนช่วงที่หายไป และเตรียมนักจิตวิทยามาดูแลสภาพจิตใจ แต่นักวิชาการด้านครอบครัว ระบุว่า คงยากที่จะห้ามการติฉินนินทา และคำถามจากคนรอบข้าง ที่สำคัญต้องระวังการนำเสนอเรื่องราวทุกรูปแบบ เพราะลำพังเรื่องที่เกิดก็บอบช้ำมากพอ ควรใช้เหตุการณ์มาเป็นบทเรียนสังคมมากกว่า
ขณะที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยการนำเสนอข่าวนี้ เพราะประเด็นการนำเสนอข่าวเปลี่ยนจากเด็กหายออกจากบ้านเป็นประเด็นที่อาจเข้าข่ายล่อลวง เกรงกระทบอนาคตเด็ก วอนสื่อควรพึงมีส่วนไม่เป็นผู้ละเมิดและซ้ำเติม. – สำนักข่าวไทย