กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานเร่งสำรวจความเสียหายจากพายุปาบึก ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมงภายใน 30 วัน หลังจากสรุปผลสำรวจทั้งหมดต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จภายใน 15 วัน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการศูนย์อํานวยการและบัญชาการสถานการณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศอบ.กษ.) พายุโซนร้อนปาบึกว่า จะต้องเร่งสำรวจและประเมินความเสียหายด้านการเกษตรทันที เนื่องจากขณะนี้กรมชลประทานรายงานว่าสถานการณ์น้ำเข้าสู่สภาวะปกติเกือบทุกพื้นที่แล้ว คงเหลือน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำเพียงบางแห่ง ซึ่งจะระบายน้ำได้ทั้งหมดภายใน 7 วัน โดยให้สำรวจทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์เป็นรายอำเภอ จัดทำชุดข้อมูลเพื่อประกอบการเสนอกองบัญชาการบรรเทาสาธารณภัย คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (กชภอ.)และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติชาติ (กชภช.) พิจารณาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดสำรวจให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน จากนั้นเร่งดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายภายใน 15 วันหลังการสำรวจ
ทางด้านพืชนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 จังหวัด รวม192,485 ไร่ ได้แก่ นาข้าว 34,567 ไร่ พืชไร่ 3,884 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 154,034 ไร่ ทั้งนี้ การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2556 ในกรณีเสียหายสิ้นเชิงจะให้ความช่วยเหลือรายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยข้าวชดเชย 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาท พืชสวน 1,690 บาท ช่วยเหลือค่าขนย้ายดินโคลน ไร่ละไม่เกิน 7,000 บาท รายละ 5 ไร่ ช่วยเหลือค่าปรับเกลี่ยพื้นที่ช่วยเหลือไร่ละ 700 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ และค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ ไม่เกินครัวเรือนละ 11,000 บาท
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้สำรวจความเสียหายต่อสวนยางพาราพบว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 5,475 ราย พื้นที่ 17,379 ไร่ เกือบทั้งหมดอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีเสียหายในจังหวัดอื่น ๆ ประปราย โดยการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประสบวาตภัยให้รายละ 3,000 บาท ถ้าสวนเปิดกรีดแล้วเสียสภาพสามารถขอทุนปลูกแทนใหม่ไร่ละ 16,000 บาท กรณีอยากเปลี่ยนอาชีพการเกษตรอื่นช่วยเหลือไร่ละ 10,000 บาท ตามโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน กรณีสวนสงเคราะห์เสียหายซึ่งยังไม่เปิดกรีดจ่ายค่าปลูกซ่อมต้นละ 45 บาท ส่วนกรณีต้นยางอายุ 2-3 ปี เอนล้มจ่ายค่าค้ำยันต้นละ 55 บาท และสำหรับต้นยางอายุเกิน 3 ปีที่เอนล้มจ่ายค่าค้ำยันต้นละ 110 บาท
ด้านประมง 7 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 6,600 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตวน้ำ คาดว่าจะเสียหาย 24,000 ไร่ ลักษณะความเสียหายปลาที่เลี้ยงในกระชังถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหาย สัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อถูกน้ำท่วม ซึ่งการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้รายละไม่เกิด 5 ไร่ โดยปลาให้ 4,225 บาทต่อไร่ กุ้ง/ปู หอย ทะเล 10,920 บาทต่อไร่ ส่วนที่เพาะเลี้ยงในกระชังให้กระชังละ 315 บาทต่อตารางเมตร ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ส่วนเรือประมงประสบภัย 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ระนอง สงขลา ปัตตานี 86 ลำ โดยเรือประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นเรือที่จอดบริเวณชายหาด น้ำเข้าเครื่องยนต์เรือ สามารถถอดมาล้างและใช้งานได้ เปลือกเรือแตกเนื่องจากเรือกระแทกกันขณะจอด สามารถซ่อมแซมได้
ขณะนี้กรมประมงเร่งตรวจสอบความเสียหายและเตรียมช่วยเหลือเรือประมงตามระเบียบกรมประมง พ.ศ. 2541 ตามระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดว่ากรณีเรือความยาวไม่เกิน 10 เมตร ช่วยเหลือ ค่าซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ ไม่เกิน ลำละ 20,000 บาท กรณีเรือจม ช่วยเหลือค่ากู้เรือ ค่าซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ ไม่เกิน ลำละ 30,000 บาท กรณีเรือสูญหาย/เสียหายมาก ซ่อมแซมไม่ได้ ช่วยเหลือ ลำละไม่เกิน 66,000 บาท กรณีเรือความยาวเกิน 10 เมตร ช่วยเหลือ ค่าซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ ไม่เกิน ลำละ 70,000 บาท กรณีเรือจม ช่วยเหลือค่ากู้เรือ ค่าซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ ไม่เกิน ลำละ 95,000 บาท กรณีเรือสูญหาย/เสียหายมาก ซ่อมแซมไม่ได้ ช่วยเหลือ ลำละไม่เกิน 200,000 บาท กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกรมประมงฯ ให้ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกินครัวเรือนละ 11,000 บาท
ส่วนกรมปศุสัตว์รายงานรายงานผลกระทบด้านปศุสัตว์ 10 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ปัตตานี สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พัทลุง ตรัง และยะลา รวม 42 อำเภอ 216 ตำบล 1,068 หมู่บ้าน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 47,858 ราย มีสัตว์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โค 90,666 ตัว กระบือ 2,704 ตัว สุกร 92,042 ตัว แพะ/แกะ 21,411 ตัว สัตว์ปีก 2,457,860 ตัว และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 3,609 ไร่ สำหรับผลกระทบที่สัตว์ตายหรือสูญหายเป็นของเกษตรกร 119 ราย ได้แก่ โค 59 ตัว กระบือ 16 ตัว สุกร 3 ตัว แพะ/แกะ 134 ตัว และสัตว์ปีก 2,797 ตัว รวมทั้งมีค่าซ่อมแซมคอกสัตว์และโรงเรือนครัวเรือนละไม่เกิน 5,000 บาท และช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,000 บาทต่อครัวเรือน.-สำนักข่าวไทย