กรุงเทพฯ 10 ม.ค.-“อุดม รัฐอมฤต” ยันกรอบ 150 วันไม่นับรวมการประกาศผลเลือกตั้ง ย้ำกำหนดไว้ชัดในกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ม.171 ชี้คนที่ตีความให้นับรวมประกาศผลเพราะอยากเลือกตั้งเร็ว
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าให้ กรธ.เป็นผู้ชี้ขาดกรณีกรอบเวลา 150 วันรวมประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่ โดยยืนยันว่าเจตนารมณ์ของ กรธ.ตั้งแต่ต้น คือ กรอบเวลา 150 วันไม่นับรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้ได้ชี้แจงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว จึงได้มีการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 171 ของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ตั้งแต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบ 4 ฉบับไปอีก 150 วันได้ก็คือภายในวันที่ 9 พฤษภาคม โดยไม่ต้องนับรวมเวลาในการประกาศผล ทั้งนี้เห็นว่าคนที่พยายามตีความให้รวมวันประกาศผล น่าจะตีความเพื่อต้องการอยากจะเลือกตั้งโดยเร็ว
“ผมว่าคนที่ตีความ เขาหาเรื่อง ต้องการจะเลือกตั้งโดยเร็ว แต่เรายืนยันเจตนารมณ์ของ กรธ. และไม่ใช่เพิ่งมาตีความตอนนี้ แต่เราตีความตั้งแต่ต้น โดยก่อนที่จะมีกฎหมายลูก มีการพูดกันถึงเรื่องพวกนี้ กกต.ก็ถาม พอถามมาเราก็ตอบไปว่า เราไม่ได้เป็นคนตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่โดยความตั้งใจของ กรธ.เป็นอย่างนี้” นายอุดม กล่าว
นายอุดม กล่าวอีกว่า ในการพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทุกฝ่ายได้พิจารณาถึงความพร้อมของฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะความพร้อมของ กกต. เพราะทุกองค์กรใหม่ด้วยกันทั้งสิ้น จึงต้องให้เวลาเต็มที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายการเมืองอยากเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะไม่ต้องการให้ คสช.มีอำนาจ แต่ในขณะเดียวกัน กรธ.ในฐานะคนทำกฎหมายเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะต้องมีความพร้อมเต็มที่จะต้องให้เวลา กกต. จึงให้เวลาประมาณ 5 เดือน ในตอนนั้นเพราะไม่ทราบว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครคิดด้วยซ้ำว่าเลือก กกต.รอบแรกได้ไม่ครบ
สำหรับกรณีที่ยังคงวิจารณ์เรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส.เขตและ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจะทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งนั้น นายอุดม กล่าวว่า ในการยกร่างนั้น กรธ.คิดเพียงว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง และไม่มีใครทราบ หรือคาดเดาได้ว่าประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร แต่ยืนยันว่าวิธีการแบบนี้เป็นการสะท้อนคะแนนและความนิยมของประชาชนที่แท้จริง โดยไม่ทิ้งคะแนนของประชาชน ดังนั้นหากใครได้รับความนิยมจากคนทั่วประเทศเกินครึ่ง ก็จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่มีใครบิดเบือนได้.-สำนักข่าวไทย