สธ.10 ม.ค.-หมอรพ.เอกชน แจงการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลตามที่กรมการค้าภายในเสนออาจเป็นการลดสิทธิ์ทาง เลือกในการใช้บริการของประชาชน เพราะเมื่อควบคุมส่วนนี้อาจทำให้ส่วนอื่นแพง ด้าน สบส.ชี้การควบคุมชัดเจน ทำให้ร้านขายยา มีราคาถูกลง เพราะห้ามขายเกินราคาข้างกล่อง ส่วนในรพ.ยังต้องรอการตีความ
ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า วานนี้ (9 ม.ค.) ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง รพ.เอกชน เกี่ยวกับกรณีที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ค่ายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาล ในรพ.เอกชนเป็นสินค้าควบคุม ว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการหารือกับอีกรอบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่กรณีนี้จะมีผลให้ราคายาถูกควบคุม ราคายา ในร้ายขายยา จะต้องไม่เกินที่กำหนดข้างกล่องยา ขณะเดียวกันราคายาในโรงพยาบาล ต้องมีการพิจารณาดีความว่า ยาเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะหรือไม่ เพราะถือว่าการสั่งจ่ายยาอยู่ในความรับผิดชอบของแพทย์ ไม่ใช่ผู้ป่วยเป็นซื้อหายามาใช้เอง
ด้าน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ อดีตนายก รพ.เอกชน กล่าวว่า การที่รัฐ จะเข้ามาควบคุมราคายาและค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน เท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเลือกรับบริการ การใช้บริการรพ.เอกชน เป็นทางเลือกให้กับคนที่มีกำลังทรัพย์และกำไรที่ได้ก็นำมาพัฒนาระบบในโรงพยาบาล ซึ่งกำไรจาก รพ.เอกชน ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง 18 แห่ง มีการจ่ายค่าปันผลแค่ 9-14 บาทเท่านั้น ไม่ได้มากมาย
ส่วนที่มีต่างชาติมาร้องเรียนว่ามาใช้บริการ รพ.เอกชนไทยและเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น เรื่องนี้ต้องดูกันให้แน่ชัดว่าสัดส่วนของคนที่ร้อง เรียนมีกันกี่คน อย่าเอาคนส่วนน้อยมากสร้างผลกระทบ โดยปัจจุบัน มีอัตราการรักษาพยาบาลโดยไม่ใช้สิทธิ์ ทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มากถึง 250 ล้านครั้ง
ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า การควบคุมราคายา และเวชภัณฑ์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน มีทั้งข้อดีและเสีย ข้อดีคือราคาอาจถูกลง แต่ต่อไปอาจทำให้แพงเรื่องอื่นแทน โดยเห็นว่า สิ่งที่ควรควบคุม คือเรื่องค่าธรรมเนียมแพทย์ และ อัตราราคายาก็ควรสมเหตุสมผล ตรงไปตรงมา โดยปัจจุบัน มีกลไปการควบคุมอยู่แล้ว เช่น ในระบบการประกันชีวิตหากมีการจ่ายยาเกินจำเป็นหรือมีราคาแพงเกินไป ทางบริษัทประกันจะเข้ามาตรวจสอบและกำหนดสถานพยาบาลว่า ควรใช้สถานพยาบาลไหนอยู่แล้ว อีกทั้งทุก รพ.มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกัน รพ.เอกชน ต้องสร้างอาคารเอง ค่าน้ำไฟ ต้องจ่ายเอง ขณะที่รพ.รัฐ มีงบประมาณ เข้ามาช่วยสนับสนุน
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากเตือนคือ หากมีการควบคุมมากจนเกินไป แม้จะลดลงในส่วนนี้ ก็อาจเป็นไปส่วนอื่นแทน ฉะนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ .-สำนักข่าวไทย