อสมท 7 ม.ค.- หลังจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุ “ปาบึก” ที่ขึ้นฝั่งในหลายจังหวัดประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน พื้นที่การเกษตร พี่น้องประชาชนในภาคใต้ไม่น้อย เมื่อพี่น้องคนไทยเดือดร้อน ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ตามระดมความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่
หน่อยงานภาครัฐที่ออกมาตรการช่วยเหลือมีอะไรออกมาแล้วบ้าง มาตรการที่ออกมาเยียวยา ความเดือดร้อน ที่ส่งตรงช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่บ้านเรือนเสียหาย และมีผลกระทบต่อรายได้และอาชีพ ดังนั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ประกาศ 6 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ออกมาแล้ว เตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย กรณีลูกค้าเดิมที่หลักประกันเสียหาย ลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก กรณีลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมที่หลักประกันเสียหาย ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ ดอกเบี้ยพิเศษ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ สามารถขอประนอมหนี้ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก ไม่ต้องชำระเงินงวด กรณีได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และกรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ปลอดหนี้
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. กำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพเป็นกรณีพิเศษ
ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน 2.มาตรการ วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุน นำไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนธนาคารออมสิน กำหนดมาตรการบรรเทาช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท โดยพื้นที่ใดที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยและเป็นบุคคลที่มีที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเสียหาย ส่งผลให้รายได้ลดลง ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สามารถพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้พักชำระเงินต้นได้อีก 2-3 ปี โดยในระหว่างพักชำระเงินต้น ให้ชำระเฉพาะส่วนที่เป็นดอกบี้ยรายเดือน 50-100% ของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย