นนทบุรี 7 ม.ค. – กระทรวงพาณิชย์ขานรับพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ประเดิม 12-18 ม.ค.นี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสาเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรกปี 2562 ด้วยการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 12-18 มกราคม 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยในส่วนการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีวาระการหารือที่สำคัญ อาทิ 1.การพิจารณาให้ความเห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ประกอบด้วย 12 ประเด็นสำคัญ เช่น การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือ 4IR (การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4) การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้ครบทั้งอาเซียน 10 ประเทศ และการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน
2.การดำเนินงานขององค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้การกำกับของเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน และการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขายานยนต์ของอาเซียน 3.แผนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เป็นต้น
ทั้งนี้ นอกจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole for the AEC) ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจและองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น คณะกรรมการด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อหารือแผนการดำเนินงานสำคัญปี 2562 และประเด็นที่แต่ละสาขาจะต้องมีการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ระหว่างประเทศ เรื่องการเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือ 4IR หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 วันที่ 14 มกราคม 2562 โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ รวมทั้งมีผู้บริหารขององค์กรชั้นนำจากภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียนร่วมเสวนา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวไทยยังจะเป็นเจ้าภาพและรับหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซป (RCEP) เพื่อจัดเตรียมท่าทีของอาเซียนสำหรับการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซปที่กำหนดจัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ณ บาหลี อินโดนีเซียด้วย
สำหรับวาระการหารือของอาเซียนด้านเศรษฐกิจจะเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างอาเซียน การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการอาเซียนรับมือประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การค้าระหว่างไทยและอาเซียนขยายตัว มีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น และสืบเนื่องจากอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้าสูงถึงร้อยละ 22.7 ของการค้าไทยกับโลก รองลงมาเป็นจีนร้อยละ 15.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 12 เป็นต้น โดยการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน มีมูลค่าการค้ารวม 105,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.3 โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 11 เดือนแรกของปี 2561 มูลค่า 63,105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 42,321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ จะผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP หาข้อสรุปได้ในปี 2562 ตามที่ผู้นำสมาชิก RCEP 16 ประเทศตั้งเป้าไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงสุดท้ายของการเจรจาแล้ว ไทยในฐานะประธานอาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจาปิดรอบได้ในปี 2562 โดย RCEP ถือเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีความสำคัญ เนื่องจากมี GDP รวมกันกว่า 25.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 31 ของโลก มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน มูลค่าการค้ารวมสูงถึง 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก อีกทั้งจะเร่งสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่ไทยอยู่ระหว่างเจรจาให้หาข้อสรุปและปิดรอบได้ภายในปี 2563 คือ การเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน
ทั้งนี้ ยังเตรียมการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มี GDP รวมมูลค่า 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นร้อยละ 13.3 ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกับไทย 134.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก และเตรียมการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และไทย-เอฟตา (EFTA) หากผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งไทย สหภาพยุโรป หรือเอฟตามีความพร้อม โดยมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดและดำเนินการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้การทำงานของ WTO เช่น การปรับปรุงความโปร่งใส การปรับปรุงกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าที่อาจหยุดชะงักลง เพราะตำแหน่งว่างในองค์กรอุทธรณ์เดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ประชุมหารือทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายมูลค่าการค้าการลงทุนให้บรรลุเป้าหมาย เช่น จีน ขยายมูลค่าการค้าจาก 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันเป็น 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 กัมพูชา ขยายมูลค่าการค้าจากประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันเป็น 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และ สปป.ลาว ขยายมูลค่าการค้าจากประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันเป็น 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย