กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – ศักราชใหม่หลายคนจับตาความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ฝากหลายบทเรียนให้ทบทวน เพื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านที่ดีขึ้นในปีนี้ สำนักข่าวไทย ชวนมองสังคมไทย ผนวกกับสังคมโลก ติดตามใน “ทิศทางสังคมไทยปี 62”
ตัวเลขผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐมากเป็น 2 เท่าของประชาชนทุกกลุ่ม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตอกย้ำไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่ความพร้อมด้านสาธารณสุข แม้ไทยนำหน้า ใช้นโยบายบัตรทองนำร่องมากว่า 16 ปี ก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะกำหนดให้ทุกประเทศต้องใช้นโยบายนี้ในปี 2030 แต่ประสิทธิภาพการรักษายังไม่เพียงพอ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โรคของผู้สูงอายุ เรื้อรัง ไม่หายขาด จำนวนบุคลากรมีจำกัด งบประมาณที่ได้เป็นไปตามอัตภาพ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดการบริการต้องมีคุณภาพต่อเนื่อง ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข หนุนรัฐเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่เก่งและมีจริยธรรมตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ ลดปัญหาโรงพยาบาลแออัด อนาคตหากงบไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องร่วมจ่าย
อีกไม่ถึง 4 ปี ผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นวัยเด็กและวัยแรงงาน แต่สถานการณ์การศึกษายังน่าห่วง แม้รัฐทุ่มงบเกือบร้อยละ 20 ของงบแผ่นดินให้ ได้ผลแค่ปฐมวัยและอุดมศึกษา แต่โอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับประถมและมัธยมเท่าเดิม มีเด็กมัธยมปลายหลุดออกนอกระบบกว่าร้อยละ 40 เป็นแรงงานทักษะต่ำ พบความเหลื่อมล้ำ คนจน-รายได้ต่ำสุด มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 4 ขณะที่คนรวยร้อยละ 66 ส่วนผลสัมฤทธิ์การศึกษาจากคะแนน PISA อยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มลดลง ขณะที่บัณฑิตจบสายวิทย์-คณิต แค่ร้อยละ 21 แต่ต้องการสูงร้อยละ 41
นักวิจัยเผยว่า การศึกษายังผลิตกำลังคนไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันไทยมีแรงงาน 37.5 ล้านคน ว่างงาน 450,000 คน ซึ่งแรงงานบางส่วนขาดความรู้และทักษะจำเป็น ปีหน้าต้องการแรงงานป้อนพื้นที่อีอีซีเพิ่ม เกือบครึ่งต้องการสายอาชีพ แต่ต้องการปริญญาตรีเพียงร้อยละ 33 สะท้อนสายอาชีพจะตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต หากเปรียบสังคมโลก จากรายงานดัชนีทุนมนุษย์ใหม่ เด็กไทยมีผลิตภาพเพียงร้อยละ 60 ของศักยภาพที่ควรได้รับ ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ อยู่ที่อันดับ 65 จาก 157 ประเทศทั่วโลก หรือหากนับเวลาเรียนทั้งหมด 12 ปี พบมีการเรียนเทียบกับการเข้าเรียนเพียง 8 ปี ส่วนแรงงาน-ศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ ไทยอยู่อันดับ 70 จาก 119 ประเทศ ที่ต้องเร่งพัฒนาหลายด้าน แนะรัฐปฏิรูปทั้งระบบ
โซเชียลมีเดีย กลายเป็นพื้นที่หลักในการแสดงความคิดเห็นของคนไทยและทั่วโลก ในหลายประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวเรียกร้องสิทธิ เช่น กรณีเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ปรากฏการณ์อาหรับสปริง ขณะที่ไทยสะท้อนทัศนคติผ่านเพลง ท่ามกลางบรรยากาศความกดดัน สำหรับคนบางกลุ่ม การแสดงความเห็นทั่วไปอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์
นักวิชาการมองโซเชียลมีเดียเป็นเพียงเครื่องขยายเสียง ไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะกับการหาฉันทามติ แต่ควรนำแนวคิดข้อมูลสาธารณะ หรือ OPEN DATA-OPEN GOVERNMENT มาใช้ เพื่อนำความคิดเห็นของคนไปใช้ยกระดับบริการสาธารณะ ในหลายประเทศใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของการแสดงความเห็นในรอบ 4 ปี แนะแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ชัดเจน
ประชากรไทยมากกว่าร้อยละ 60 ไม่ดูโทรทัศน์ เลือกเสพข่าวผ่านโซเชียล มีเพียงร้อยละ 40 ที่ดู และทั้งหมดอยู่ในวัยสูงอายุ ส่งผลให้สื่อไทยเจอวิกฤติต่อเนื่อง ปลดพนักงาน ปิดบริษัท ไม่ต่างจากสื่อต่างชาติอย่างรอยเตอร์ บีบีซี โดยปีหน้าจะหนักมากขึ้น โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ที่มีมากช่อง แต่โฆษณาเท่าเดิม รายได้จึงลดลง และคนย้ายไปดูสื่อโซเชียลมีเดีย ขณะที่สื่อโซเชียลได้เปรียบ มีข้อมูลผู้บริโภคว่านิยมเนื้อหาแบบใด จึงตอบสนองได้ตามต้องการ แต่ยืนยันผลวิจัยระบุสำนักข่าวที่เร็วที่สุด ไม่ได้มียอดคนดูสูงสุด แต่เป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพ จึงมองว่าเทรนด์คนดูปีนี้จะเลือกสื่อคุณภาพมากกว่าสื่อที่เร็ว แต่ขาดความเที่ยงตรงและรอบด้าน แนะคนผลิตสื่อจับทิศทางผู้บริโภคให้ได้ เชื่อมต่อแพลตฟอร์มระดับโลก และร่วมมืออุตสาหกรรมสื่อทำช่องทางการสื่อสาร เพื่อทราบความต้องการคนดูอย่างแท้จริง เชื่อรายได้จะเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ทางสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีกุนนี้ บางเรื่องอาจไม่หมูหรือง่ายดายตามทิศทางที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่สิ่งสำคัญคือ การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาไม่ช้าก็เร็ว. – สำนักข่าวไทย