สงขลา 5 ก.ย.- กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าประชุมหน่วยความมั่นคง-นายสถานีรถไฟชายแดนใต้ ทบทวนแผนคุมเข้มกันเหตุซ้ำซ้อน หลังรถไฟถูกลอบวางระเบิดที่ปัตตานี เน้น 4 แนวทาง 3 ระบบ 2 มาตรการ
เมื่อเวลา 11.00 น. (5 ก.ย.) พลเอกมณี จันทร์ทิพย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ประชุมหน่วยงานความมั่นคง มีทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และนายสถานีรถไฟในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยรถไฟให้กระชับรัดกุมยิ่งขึ้น หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดรางรถไฟเมื่อเย็นวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ ม.9 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้ขบวนรถไฟที่ 176 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก เสียหายและพนักงานเสียชีวิตและบาดเจ็บอีก 3 ราย โดยที่ประชุมได้ทบทวนแผนการรักษาความปลอดภัยอย่างรอบด้านทั้งบริเวณสถานีและเส้นทางการเดินรถ แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมามีมาตรการดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น เน้นใน 4 ประเด็น คือ รักษาความปลอดภัยสถานีรถไฟและซุ้มเครื่องกั้นทางตัดรถไฟ การรักษาความปลอดภัยเส้นทางรถไฟ การรักษาความปลอดภัยขบวนรถไฟ ละการรักษาความปลอดภัยพนักงานในการซ่อมเส้นทางรถไฟ โดยให้ทุกฝ่ายประสานการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานปฏิบัติหน้าที่และประชาชนผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังดำเนินการอีก 3 ระบบ ประกอบด้วย 1.ระบบป้องกันตนเอง: พนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นรายบุคคลจะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่ต้องกำหนดมาตรการและดำเนินการป้องกันตนเองเป็นประการแรก 2. ระบบป้องกันโดยชุมชน: เป็นระบบที่สำคัญที่สามารถส่งเสริมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการรักษาความปลอดภัยแก่กิจการรถไฟในพื้นที่ได้ เนื่องจากแต่ละชุมชนมีผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนและราษฎร ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับกิจการรถไฟตลอดเวลา 3. ระบบการรักษาความปลอดภัยโดยภาครัฐ:
เป็นระบบการรักษาความปลอดภัยหลัก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการใช้กำลังพล และยุทโธปกรณ์ทั้งมวลที่มีอยู่ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว เน้น 2 มาตรการคือ 1.มาตรการเชิงรุก ได้แก่ การป้องกันทุกรูปแบบเพื่อมิให้กลุ่มผู้ก่อเหตุมีขีดความสามารถหรือมีเสรีในการปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติการด้านการข่าว การแจ้งเตือนข่าวการพบปะเยี่ยมเยียนการลาดตระเวนการเฝ้าตรวจการปฏิบัติการจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์ 2. มาตรการเชิงรับ ได้แก่ การป้องกันและคุ้มครองรักษาความปลอดภัยโดยตรงกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนพนักงานที่ให้บริการสถานที่ปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจและระบบสาธารณูปโภคได้แก่การตอบโต้การปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุกันแรงการจัดกำลังในการป้องกันการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด.-สำนักข่าวไทย