สำนักข่าวไทย 27 ธ.ค.–แรงงาน 19 สาขาเฮ! ราชกิจจาประกาศขึ้นค่าแรง เริ่ม 1 ม.ค.62 ด้าน ปธ.สมานฉันท์แรงงานไทย ห่วงแรงงานไม่ได้เงินตามที่ระบุ เพราะไม่มีคำสั่งชัดเจนที่ระบุต้องให้นายจ้างทำตาม
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยปรับปรุงอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในกลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล กลุ่มสาขาอาชีพอุตสาหกรรมศิลป์ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวม 19 อาชีพ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
ทั้งนี้คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่20 มีมติในวันที่17ตุลาคม 2561ให้ปรับปรุงอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าว 19 อาชีพ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ได้แก่
1.สาขาอาชีพช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท
2. สาขาอาชีพช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 465 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 560 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 650 บาท
3.สาขาอาชีพช่างซ่อมรถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท
4.สาขาอาชีพช่างเย็บ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 345 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 410 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท
5.สาขาอาชีพช่างเครื่องประดับ (ประดับอัญมณี) ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 605 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 825 บาท
6. สาขาอาชีพช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 370 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 425 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 480 บาท
7. สาขาอาชีพช่างบุครุภัณฑ์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 355 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 410 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 465 บาท
8. สาขาอาชีพช่างสีเครื่องเรือน ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 495 บาท
9. สาขาอาชีพช่างบำรุงรักษารถยนต์ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 375 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท
10. สาขาอาชีพช่างซ่อมเครื่องยนต์ดีเซล ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท
11. สาขาอาชีพช่างเครื่องปรับอากาศรถยนต์ขนาดเล็ก ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 490 บาท และระดับ 3 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 585 บาท
12. สาขาอาชีพนักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 460 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 550 บาท
13. สาขาอาชีพผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 475 บาท
14. สาขาอาชีพผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 385 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 465 บาท
15. สาขาอาชีพผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 375 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท
16. สาขาอาชีพพนักงานเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 350 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 380 บาท
17. สาขาอาชีพพนักงานผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 395 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท
18. สาขาอาชีพพนักงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 365 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 450 บาท
19. สาขาอาชีพช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ระดับ 1 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 375 บาท และระดับ 2 เป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 415 บาท
ประกาศ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ปะธานกรรมการค่าจ้าง
ในประเด็นนี้นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นผลมาจากการที่ตนและเครือข่ายแรงงานได้เรียกกร้องให้ขึ้นค่าแรง 300 บาทให้เท่ากันทั่วประเทศ โดยที่ต้องต่อสู้กันมานานจนนำมาสู่การปรับค่าจ้างแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือในแต่ละสายงาน หลังมีการประกาศออกมาส่วนเห็นด้วยในหลักการ เป็นเรื่องดีที่แรงงานมีฝีมือมากประสบการณ์ควรได้รับค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อกับเนื้องานที่ทำ
แต่ปัญหาที่น่ากังวลคือในประกาศที่ออกมาไม่ได้มีข้อใดระบุให้บรรดานายจ้าง ห้างร้านปฎิบัติตามคำสั่งประกาศ เลยแม้แต่ข้อเดียว โดยผู้ที่จะได้เงินขั้นต่ำตามที่ระบุจะต้องผ่านเกณฑ์การอบรมที่กระทรวงแรงงานกำหนดจึงจะได้เงินตามที่ระบุ หากนายจ้าง หรือห้างร้าน ส่งแรงงานที่มีไปอบรมก็ไม่มีปัญหา แต่หากตรงข้ามลูกจ้างไปอบรมเองเพื่อหวังผ่านเกณฑ์และได้เงินเพิ่ม นายจ้างก็อาจใช้ข้ออ้างตรงนี้ เลือกที่จะไม่จ่ายเงินเพิ่มได้
“เรื่องนี้หลักการดีเห็นด้วยแต่การที่ออกประกาศโดยไม่มีตัวไหนกำหนดให้นายจ้างต้องทำตาม ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ นายจ้างก็อาจจะเลือกจ้างคนที่มีฝีมือใกล้เคียงมาทำงาน โดยที่จ่ายเงินเท่าเดิม เพราะใครๆก็อยากได้งานทำในช่วงเวลาแบบนี้ โดยที่ไม่เลือกมาก เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ จากที่เคยจ้างคนจบปริญญญาตรี นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนละ 15,000 บาทแต่มีคนจบในสาขาใกล้เคียงกัน ฝีมือต่างกัน แต่จบแค่ ปวส.เงินเดือนแค่12,000 นายจ้างก็เลือกที่จะจ้างลักษณะเช่นนี้แทน จึงไม่แน่ใจว่าที่ประกาศออกมาในช่วงนี้จะเป็นการหาเสียงหรือไม่” นายชาลี กล่าว. -สำนักข่าวไทย