กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 19 ธ.ค.-กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ลดลงร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่ทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ
10 ขณะที่ยอดรวมธุรกิจในไทยยังมีกว่า 714,000 ราย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
แถลงการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศเดือนพฤศจิกายน
2561 จำนวน 5,539 ราย เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 6,597 ราย ลดลง 1,058 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 เนื่องจากปีที่ผ่านมา
การจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นมากจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลของกรมสรรพากร
โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 534 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 381 ราย
คิดเป็นร้อยละ 7 และอันดับ 3 คือ
ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
ขณะที่มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวน 75,167 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 19,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 55,205 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน
2560 จำนวน 68,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,705 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10
ส่วนธุรกิจจัดตั้งใหม่สะสม จำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน
2561 มีจำนวน 68,007 ราย ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 205 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.3
สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2561
มีจำนวน 335,615 ล้านบาท ลดลง 37,091
ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนพฤศจิกายนมีจำนวน 2,482 ราย เทียบกับเดือนตุลาคม
เพิ่มขึ้น 316 ราย คิดเป็นร้อยละ 15
และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 เพิ่มขึ้น 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด
3 อันดับแรก ได้แก่
ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 207 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 141 ราย
คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 3ตามลำดับ
ณ วันที่ 30 พ.ย. 61) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ
จำนวน 714,478 ราย มูลค่าทุน 17.77 ล้านล้านบาท แยกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด /
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 183,014 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.62 บริษัทจำกัด จำนวน 530,246 ราย
คิดเป็นร้อยละ 74.21
และบริษัทมหาชนจำกัด
จำนวน 1,218 ราย
คิดเป็นร้อยละ 0.17
ทั้งนี้ กรมจะได้เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งจะสนับสนุนและส่งเสริมให้นิติบุคคลมีศักยภาพในการทำธุรกิจ
ทั้งด้านการบริหารองค์กร การจัดการทางการเงิน การตลาด
โดยจะบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยธุรกิจ และ startup ต่างๆ
เพื่อให้นิติบุคคลเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยี โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป
และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ
ซึ่งการเป็นนิติบุคคลจะได้รับสิทธิประโยชน์และมีโอกาสเพิ่มขึ้น เช่น
ด้านการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
การมีโอกาสเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจอีกด้วย. – สำนักข่าวไทย