รร.เดอะสุโกศล 17 ธ.ค.-รมว.พม.เผยผลการพัฒนาสังคมไทย รอบ 2 ปี ดีขึ้น สร้างงานคนพิการ ผู้สูงอายุเกินเป้า แรงงานออมเพิ่มขึ้น
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมสรุปผลงานความร่วมมือระหว่างคณะทำงานย่อย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสังคมไทย โดย พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า จากการดำเนิน การของคณะทำงานย่อยจากภาคส่วนต่างๆ เป็นเวลากว่า 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2559 ถึงวันที่ 30 พ.ย.2561 ได้มีความคืบหน้าในการพัฒนาสังคมเป็นอย่างมาก
โดยผลการดำเนินการในด้านแรก คือการส่งเสริมการมีรายได้และการมีงานทำของคนพิการ ภาคเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่งผลให้คนพิการมีงานทำ ในระบบมาตรา 33 ,35 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมารวมกว่า 5 หมื่นคน จากเดิมปี 2558 ที่มีเพียง 3.7 หมื่นคน
ส่วนด้านที่สอง คือด้านการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุมีรายได้น้อยต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี มีทั้งหมด 3.91 ล้านคน โดยปี 2560 สามารถสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุได้แล้วกว่า 4.1 หมื่นคน แบ่งเป็นทำงานในภาครัฐ 9.2 พันคน เอกชน 9.6 พันคน และอาชีพอิสระ 2.3 หมื่นคน
ส่วนปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.26 หมื่นคน รวมแล้วผู้สูงอายุมีงานทำกว่า 6.36 หมื่นคน มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 5.85 หมื่นคนภายใน 2 ปี และเนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่นอกระบบจึงเตรียมส่งเสริมในเรื่องวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้เรื่องการทำบัญชีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
ส่วนด้านที่ 3 การออมเพื่อเกษียณอายุ ตอนนี้ไทยมีแรงงานในระบบ ประมาณ 17 ล้านคน ขณะที่แรงงานนอกระบบมีกว่า 21 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีการเตรียมพร้อมในเรื่องการออมน้อย จึงมีการขับเคลื่อนเพื่อการออมผ่านการประชาสัมพันธ์ และมีคลังความรู้ในเรื่องการออมกว่า 1,900 ชิ้น ให้ความรู้ ฝึกการออม เข้าถึงคนไทยแล้วกว่า 4 ล้านคน
ส่วนด้านที่ 4 ที่อยู่อาศัย ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและพบว่ามีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มปีละ 900-1,000 คน เกือบครึ่งของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปใช้ส้วมแบบนั่งยองและมีบ้านเพียงร้อยละ 24.6 ถูกดัดแปลงให้เหมาะสม ดังนั้น ในด้านนี้จึงเน้นเรื่องการปรับปรุงบ้านเรือนของประชาชนให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุและคนทุกวัย เพราะจากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ต้องการอยู่บ้านเดิมถึง ร้อยละ 92.44 จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน หรือ UDC 5 ศูนย์กระจายทุกภูมิภาค เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับปรุงบ้านเรือนให้ถูกต้องตามหลัก และเป็นธนาคารเครื่องมือในการปรับปรุงบ้านซึ่งให้คำแนะนำแล้ว 160 หลัง และเกิดการปรับปรุงบ้านจริง 45 หลัง
และด้านสุดท้ายคือ ด้านความปลอดภัยทางถนน สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป คณะทำงานจะเน้นและให้ความ สำคัญในการสร้าง 3 เรื่อง คือ 1.การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยเฉพาะการปรับเจตคติของสังคม ไม่ให้มองความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอม รับได้ หรือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรยุ่งเกี่ยว ผู้ถูกกระทำไม่กล้าร้องทุกข์ ทั้งที่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 และมีกระบวนการช่วยเหลือพร้อมอยู่แล้ว
2.การสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ซึ่งเป็นการนำ “ผลกำไร”มาบวกกับ “การสร้างประโยชน์แก่สังคม” และให้เกิดความยั่งยืนในตัวเอง โดยเฉพาะกับคนพิการและผู้สูงอายุ และ 3.การสร้างสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเดินหน้าต่อไป .-สำนักข่าวไทย