นนทบุรี 14 ธ.ค. – กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดการประกวด “หนึ่งอาชีวะ หนึ่งนวัตกรรม” เปิดรับผลงานจากนักศึกษาสถาบันอาชีวะในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ คัดเลือกนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดการประกวด “หนึ่งอาชีวะ หนึ่งนวัตกรรม” เปิดรับผลงานจากนักศึกษาสถาบันอาชีวะในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ คัดเลือกนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยผลงาน “เครื่องทำน้ำดิบจากอากาศ” ของนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนน้ำดื่มในช่วงหน้าแล้งและภัยพิบัติได้ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ
จาก 30 ผลงานระดับภูมิภาคทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกการประกวด “หนึ่งอาชีวะ หนึ่งนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” เพื่อเข้าสู่การประกวดระดับประเทศ ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การค้นหานวัตกรรม เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า” เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศผลพร้อมรางวัลการประกวดระดับประเทศ โดยได้มอบเงินรางวัลพร้อมโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นวัตกรรม ”เครื่องทำน้ำดิบจากอากาศ” เพื่อประโยชน์ในการช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนน้ำดื่มในช่วงหน้าแล้งและภัยพิบัติ รวมทั้งยังสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จากวิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องทำความสะอาดรังนกนางแอ่นด้วยลำโพง เพื่อช่วยแรงงานที่ใช้สายตาในการคัดเลือกขนนก หรือตะกอนของรังนกเพื่อนำไปบริโภค จากวิทยาลัยเทคนิคสตูล จังหวัดสตูล ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ อุปกรณ์คว้านเมล็ดลำไย “ตุ๊ดตู่คู่ใจ” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญในการคว้านเม็ดลำไย จากวิทยาลัยเทคนิคลำพูน จังหวัดลำพูน ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ เครื่องล้างอัดจาระบีตลับลูกปืนล้อรถยนต์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี / และเครื่องย้อมสีเส้นไหมและเส้นฝ้ายแบบใช้หม้อต้มประหยัดพลังงาน จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งผลงานเหล่านี้ จะมีการจดสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมจะนำไปเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ต่อยอดเป็นนวัตกรรมระดับอุตสาหกรรม เพื่อเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย