ธปท. 12 ธ.ค. – นักวิชาการจากจุฬาฯ เผยงานวิจัยคนรวยใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี LTF กระจุกตัว แนะรัฐเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีจูงใจผู้มีรายได้น้อยออมเพื่อเกษียณ
นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยการเปลี่ยนนโยบาย LTF กระทบผู้เสียภาษีอย่างไร ในงาน PIER Reserach Brief ว่า จากการศึกษาข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2555 พบว่า คนที่ซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF ) กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงประมาณร้อยละ 30 ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางซื้อ LTF น้อยกว่าร้อยละ 10 เพราะไม่กล้ารับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น จึงมีการซื้อประกันชีวิตค่อนข้างมาก ส่วนวงเงินใน LTF ที่คนนิยมซื้อมาก คือ เกิน 100,000 บาทต่อปี เป็นจำนวนร้อยละ 38 หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของผู้เสียภาษีที่ซื้อ LTF ทั้งหมด นอกจากนี้ พบว่าคนนิยมซื้อ LTF มากกว่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เนื่องจากเงื่อนไขระยะเวลาการลงทุน LTF สั้นกว่า คือ ประมาณ 7 ปี
ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าการให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี LTF ไม่เป็นธรรม เพราะเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยนั้น จากผลการศึกษาพบว่าคนรวยได้ประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลางจริง โดยคนรวยใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีร้อยละ 24 เนื่องจากมีฐานภาษีสูงกว่า ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนลดภาษีประมาณร้อยละ 11
ส่วนกรณีที่สิทธิ์ลดหย่อน ภาษี LTF กำหลังจะหมดอายุลงสิ้นปี 2562 ย่อมมีผลกระทบต่อผู้มีรายได้สูง ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้เครื่องมือการลดหย่อนภาษีตัวอื่น เช่น ประกันชีวิต หรือกองทุน RMF บ้าง โดยพบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ซื้อ LTF ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง และร้อยละ 49 ของผู้ซื้อ LTF ที่มีรายได้สูงจะมีสิทธิลดหย่อน RMF เหลือพอที่จะนำมาแทนที่ LTF ได้ทั้งหมด
ส่วนการเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิ์ลดหย่อน LTF เป็นการเครดิตเงินคืนร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่ซื้อกองทุนตามข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยนั้น อาจจะมีผลข้างเคียงต่อแรงจูงใจต่อการซื้อ RMF ของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากจะได้ส่วนลดภาษีจาก RMF เพียงเเค่ร้อยละ 5 ซึ่งต่ำกว่า LTF ที่จะเครดิตเงินคืนได้ร้อยละ 20 เป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมการออมให้ชัดเจน หากเน้นการออมเพื่อการเกษียณอายุ ก็จะต้องออกแบบสิทธิประโยชน์ภาษีให้เหมาะสมกับการออมระยะยาว และหากต้องการเน้นให้คนมีรายได้น้อยถึงปานกลางเข้ามาออม ก็จะต้องกำหนดสิทธิประโยชน์ให้มีแรงจูงใจกับผู้มีรายได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ภาษีจากการลงทุนใน LTF กระจุกตัวในกลุ่มคนรวย
ทั้งนี้ กองทุน LTF มียอดลงทุนรวมประมาณ 390,000 ล้านบาท ณ เดือน กันยายน 2561. – สำนักข่าวไทย