กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – พพ.จับมือ 4 เครือข่ายลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือส่งเสริมการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย และสนับสนุนสร้างอาคารประหยัดพลังงาน หนุนการใช้พลังงานเกิดประสิทธิภาพลดใช้ร้อยละ 30 ในปี 2579 ตามแผนอนุรักษ์พลังงานประเทศ EEP 2015
นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงพลังงาน โดย พพ. ภาคเอกชน และสถาบันศึกษา 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรด้านการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานระดับอุดมศึกษา และสนับสนุนสร้างอาคารที่พักอาศัยประหยัดพลังงาน และที่ผ่านมาจนถึงปีนี้มีอาคารและสถานที่ทั้งรายเล็กและขนาดใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมนี้กว่า 500 ราย ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานต่อปีไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1,500 -2,000 ล้านบาทต่อปี และเชื่อว่าเมื่อหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้พื้นที่อาคารและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร และ 2,000 ตารางเมตร จะต้องทำแผนอนุรักษ์พลังงานให้ พพ.ตรวจสอบแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับต่ออาคารจะส่งแบบอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น โดย พพ.วางแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานไปสู่นักออกแบบด้านวิศวกรรมและด้านสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนที่จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรด้านการอนุรักษ์พลังงานลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เป็นแนวทางการออกแบบอาคารที่สามารถลดใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดของหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการขยายเครือข่ายการส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานมาอย่างเนื่อง โดยที่ผ่านมา พพ.ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเอกชน ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาอาคารอนุรักษ์พลังงาน และในขณะที่ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อนำเนื้อหาไปบรรจุในหลักสูตร เพื่อนำไปประกอบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดย พพ.ได้ดำเนินการจัดทำกฎกระทรวงเกี่ยวกับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code : BEC) เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นจากอาคารที่มีขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปและคาดว่าปีหน้าพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรและใน 2563 พื้นที่ 2,000 ตารางเมตรได้ต่อไป ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนสร้างบุคลากรในสาขาวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญสามารถออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานได้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสอดรับแนวทางนโยบายการอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานประเทศ EEP 2015
“พพ.มั่นใจจะช่วยลดสัดส่วนการใช้พลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP2015) พ.ศ.2558-2579 ที่จะต้องลดสัดส่วนการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2579” นายยงยุทธ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย